รัฐสภา 7 มี.ค.-กมธ.นิรโทษกรรม ขีดเส้นเริ่มนับคดีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548-ปัจจุบัน วางเกณฑ์เหตุจูงใจทางการเมืองเป็นตัวตั้ง สัปดาห์หน้าเล็งเชิญ “สุริยะใส-ณัฐวุฒิ-ภัสราวลี-iLaw” ให้ข้อมูล
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุมกมธ. ว่า ที่มีมติในสัปดาห์หน้าจะเชิญบุคคลที่ส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องทราบว่า เขามีความจำเป็นอะไรที่ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น มีการกระทำอะไร และคดีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันที่ 14 มี.ค.ที่จะถึงนี้ จะเชิญบุคคลดังต่อไปนี้ 1.นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายถาวร เสนเนียม อดีต ผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชน นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมประชุม
สำหรับกระบวนการพิจารณาของกมธ. นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ได้ข้อยุติว่าจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจำกัดขอบเขตหน้าที่ว่าจะพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงจะต้องดูว่าในช่วงเวลานั้น มีการกระทำอะไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าทางการเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งได้มอบให้นายนิกร จำนง เลขาธิการกมธ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ การประชุมวันที่ 14 มี.ค.จะเป็นการรับฟัง วันที่ 21 มี.ค.จะพิจารณาข้อมูล ส่วนกรณีความผิดตามกฏหมายอาญามาตรา 112 ยังไม่พิจารณาขณะนี้
ด้านนายนิกร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิด อันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือขอข้อมูลคดีทางการเมืองราว 50,000 คดี รวมถึงคดีที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) สำนักงานศาลยุติธรรม และศาลทหารด้วย เพื่อนำข้อมูลมารวมกัน และจำแนกเหตุการณ์เพื่อตัดสินใจก่อนเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
“อนุกรรมาธิการจะรวบรวมคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองซึ่งเป็นศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้ในหลายกรรมาธิการและหลายประเทศ ซึ่งเป็นคำที่สำคัญ พร้อมยกตัวอย่างสมัยนปช.หรือกลุ่มพันธมิตรฯ มีแรงจูงใจต่างกัน แต่ก็จัดเป็นแรงจูงใจทางการเมืองเหมือนกัน ซึ่งจะนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป ตอนนี้จะยังไม่พิจารณาว่าคดีใดที่จะไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม เพียงแต่ดูเหตุการณ์ทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลา แล้วนิยามว่ามีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ โดยเอาเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาตัวบุคคลผู้กระทำเป็นตัวตั้ง” นายนิกร กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย