ภูมิภาค 12 ก.ค.-อุตุฯ เตือนทั่วไทยรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง สกลนครเร่งระบายน้ำลงโขง ขณะที่ชาวบ้านริมน้ำสงครามนครพนมเตรียมรับมือน้ำโขงสูง ด้านชาวบึงกาฬพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จับปลาช่วงน้ำขึ้นสร้างรายได้
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนทั่วทุกภาคจะมีฝนฟ้าคะนองอย่างต่อเนื่อง ตกหนักบางพื้นที่ทางภาคเหนือ อีสาน กลาง และตะวันออก ทะเลอันดามันคลื่นสูง 2 เมตร เดินเรือระมัดระวัง สาเหตุจากมวลความร้อนปกคลุมลาวและเวียดนามตอนบน ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่านอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคอีสาน ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักที่เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคกลาง ฝนฟ้าคะนอง ตกหนักที่นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม ภาคตะวันออก ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักที่นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด ทะเลอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้ (อ่าวไทย) ฝนฟ้าคะนอง ที่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภาคใต้ (อันดามัน) ฝนฟ้าคะนอง ตกหนักที่ระนอง และพังงา ทะเลคลื่นสูง 2 เมตร ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่
ที่ จ.สกลนคร หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำและเขื่อนต่างๆ เพิ่มสูง เช่นที่ ทะเลสาบหนองหารระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 236 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 88% ของความจุ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งระบายน้ำที่ประตูสุรัสวดีทั้งถึงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แต่ก็หวั่นผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่จะหนุนสูงขึ้นมาในระยะนี้ ส่งผลนาข้าวรอบๆ หนองหาร ได้รับความเสียหาย รวมไปพื้นที่ลุ่มในเขตเทศบาลนครสกลนครบางส่วน
เช่นเดียวกับที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขงยังเพิ่มระดับต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว หลังจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาต่อเนื่องอีกรอบ เพิ่มขึ้นถึงวันละ 30-50 ซม. ระดับน้ำล่าสุดอยู่ที่ราว 7 เมตร (จุดวิกฤติอยู่ที่ 13 เมตร) เสี่ยงน้ำโขงหนุนเอ่อท่วม ทั้งนี้ ปภ.นครพนม ประกาศเตือนให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงริมโขง รวม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ธาตุพนม บ้านแพง ท่าอุเทน และ อ.เมือง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำโขงหนุน อีกทั้งยังมีหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลัก ต้องเฝ้าระวังน้ำเอ่อท่วม เพราะแม่น้ำสงครามนั้นจะคอยรองรับน้ำมาจากหลายจังหวัด ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง อย่างเช่นที่ บ้านท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม บ้านเรือนเกือบ 500 หลัง อยู่ติดกับแม่น้ำสงคราม และเป็นแอ่งกระทะ ชาวบ้านจึงเตรียมจัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมเรือไว้สัญจร และอพยพสัตว์เลี้ยงอย่างวัวควายกันบ้างแล้ว เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี
แต่ที่บึงกาฬ ระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นในขณะนี้ ชาวบ้านพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก่อนน้ำจะสูงขึ้นกว่านี้ ทั้งที่บ้านพันลำ บ้านท่าไคร้ บ้านท่าโพธิ์ ที่อยู่แนวริมโขง ออกเรือหาปลาเพื่อนำมาขายพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดไทย-ลาวเช่นกัน มีทั้งปลาแค้ ปลาคัง ปลาโจก กิโลกรัมละ 280-300 บาท รายได้เฉลี่ยคนละ 1,000-2,000 บาท/วัน เลยทีเดียว.-สำนักข่าวไทย