กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – ปลัด ทส. เผยจะเริ่มปฏิบัติการรับมือไฟป่าหมอกควัน 17 จังหวัดภาคเหนือในวันที่ 8 พ.ย. เป็นต้นไป โดยคาดว่า สภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง จะทำให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันฤดูแล้ง 66/67 รุนแรงขึ้น โดยปีนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละอองขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเน้นย้ำมาตรการรองรับสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกันทั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับในฤดูแล้ง 66/67 นี้ กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า สภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง จะทำให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ในฤดูแล้ง 66/67 รุนแรงขึ้น ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) จึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อทำหน้าที่การบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งมีพล.ต.อ. พัชรวาทเป็นประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ประสานงาน และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยประสานงานหลัก โดยจะยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดนจะประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้ใน 17 จังหวัดภาคเหนือยังมีศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งจะเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ต่อไป
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ได้กำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้าโดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกขับเคลื่อนภาคเอกชนร่วมลงทุนในการแก้ไขปัญหา จัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อสั่งการระดับชาติลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร ปรับปรุงแก้ไขกฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ยกระดับความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน จากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง โดยมีเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่หลัก 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ และควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เกษตรกรรม.- สำนักข่าวไทย