กรุงเทพฯ 25 ต.ค.- ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของ “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” กรณีมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด หากไม่เรียบร้อยใน 2 ปี อาจถูกเพิกถอน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “SP” (Suspension) หลักทรัพย์ของ STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กรณีมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย “NP” (Notice Pending) หลักทรัพย์ของ STARK
เนื่องจาก STARK ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่25 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่า STARK จะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนนั้น STARK ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการในการดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขึ้นเครื่องหมาย “SP” หลักทรัพย์ของ STARK ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนตามข้อกำหนด
ทั้งนี้ หาก STARK ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนตามข้อกำหนดภายใน 2 ปีนับจากวันขึ้นเครื่องหมาย SP หรือภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2568 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของ STARK ต่อไป
ด้าน STARK แจ้ง ตลท.วานนี้ ว่า เจ้าหนี้ทางการเงิน 4 รายของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ PDITL ต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 24/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม 2566 PDITL ได้รับสำเนาคำสั่งของศาลล้มละลายกลางแจ้งว่ามีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่18 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ในฐานะเจ้าหนี้ของ PDITL เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการร่วมกันต่อศาลล้มละลายกลาง โดยเสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งบริษัท อีวายฯ เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยให้ PDITL สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับ อีกทั้ง PDITL ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในขั้นตอนการดำเนินงาน การควบคุมภายใน และพัฒนาการบริหารงานให้ดียิ่งขึ้นไป.–สำนักข่าวไทย