กทม. 13 ต.ค.- กต.เตรียมส่งแรงงานไทย 100 คนกลับจากอิสราเอล 14 ต.ค. ถึงไทย 15 ต.ค. ที่อู่ตะเภา ประสาน 3 สายการบิน ช่วยอพยพคนไทยกลับ ตั้งเป้าให้ได้วันละ 400 คน
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ระบุว่า เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีเดินทางมาประชุม ย้ำเรื่องภารกิจการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลให้ถือเป็นภารกิจหลักของชาติที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด ขณะนี้ มีคนไทยในอิสราเอลลงทะเบียน แสดงความประสงค์อยากกลับไทย 6,778 ราย และมี 85 คนที่แสดงความประสงค์อยากอยู่ในอิสราเอลต่อ ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์อยากจะเดินทางกลับ ทางสถานทูตไทยในอิสราเอล ได้จัดศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับคนไทยโดยจองโรงแรมแดน-พาโนราม่า เทลอาวีฟ(Dan Panorama Tel -Aviv ) จำนวน 100 ห้อง พักรอระหว่างรอเที่ยวบินกลับ
ส่วนความคืบหน้าของคนไทยที่อยู่ในพื้นที่อิสราเอล ข้อมูลล่าสุดขณะนี้ มีผู้เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 14 ราย และผู้ที่คาดว่าถูกจับตัวไป 16 ราย ซึ่งในกรณีของผู้ที่ถูกจับตัวไป เมื่อช่วงเช้า กต.ได้เชิญทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย มาพูดคุยหารือในเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงท่านทูตว่าขอให้ทางการอิสราเอลรีบเจรจาเพื่อที่จะนำตัวคนไทยออกมาจากพื้นที่จับกุมให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากคนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้มีความขัดแย้งหรือเป็นคู่ขัดแย้งกับทางด้านของปาเลสไตน์
โดยเวลานี้ทางการอิสราเอลได้อพยพชาวต่างประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างฉนวนกาซ่าออกมาจากพื้นที่ได้แล้ว 99% ส่วนที่เหลือตอนนี้สถานทูตทั้งไทยและอิสราเอลได้มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำคนไทยที่เหลือออกมาจากพื้นที่ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ฉนวนกาซา ณ เวลานี้ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีการโจมตีด้วยจรวดและอาวุธสงคราม หลังจากนี้คาดว่าน่าจะมีปะทะกันอีกอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวานนี้สถานทูตอิสราเอล รายงานว่าพบแรงงานไทยจำนวน 2 รายที่หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ติดชายแดนฉนวนกาซา ซึ่งทั้งสองรายได้รับการช่วยเหลือ นำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งถ้าหากทั้งสองคนอาการดีขึ้นและมีความประสงค์อยากจะเดินทางกลับประเทศไทย ทางสถานทูตเตรียมที่จะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
ส่วนในวันพรุ่งนี้ (14 ต.ค.) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะจัดเที่ยวบินอพยพคนไทยครั้งที่ 3 นำแรงงานจำนวน 100 คนกลับประเทศไทย โดยสายการบิน Fly Dubai เที่ยวบิน FZ1550 ออกเดินทางจากอิสราเอลในวันที่ 14 ตุลาคมเวลา 11.00 น. เปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ เพื่อโดยสารต่อโดยเที่ยวบิน FZ1837 ออกจากนครดูไบ เวลา 20.00 น. และถึงไทยในวันที่ 15 ต.ค. เวลา 07.25 น. เครื่องจะลงที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว จะมีรถบัสรับจากอู่ตะเภาไปยังโรงแรม SC Park เพื่อให้ญาติพี่น้องรับกลับภูมิลำเนา โดยญาติพี่น้องของคนไทย 100 คน สามารถมาพบญาติที่เดินทางกลับไทยโดยเที่ยวบินดังกล่าว ที่ รร. SC Park ประมาณ 10.00 น. เป็นต้นไป
ส่วนในวันที่ 16 ตุลาคม สายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์จะมีการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศ โดยที่นั่งที่ประเมินไว้อยู่ที่ประมาณ 250 คน รายละเอียดตอนนี้รอการยืนยันอีครั้ง
ขณะที่เช้าวันนี้ได้มีการหารือกับสายการบินพาณิชย์ ประกอบด้วย การบินไทย นกแอร์ และแอร์เอเชีย เพื่อสนับสนุนภารกิจในการอพยพพี่น้องประชาชนคนไทยในอิสราเอลกลับมา ตั้งเป้าจากทุกช่องทางอพยพคนไทยให้ได้วันละ 400 คน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยในรายละเอียดจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง ส่วนความพร้อมของเส้นทางการบิน เมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) ได้มีการพูดคุยไว้ว่าอาจจะมีการลำเลียงคนไทยจากอิสราเอลไปรอที่จอร์แดนแล้วอาจจะให้สายการบินไทย ไปรับกลับมายังประเทศไทย แต่รายละเอียดความชัดเจนเวลานี้ต้องรอการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง ส่วนจะรวมกับเครื่องบินของกองทัพอากาศด้วยหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องดูความเหมาะสม และปรับเปลี่ยนตามหน้างานเป็นหลัก
ส่วนระยะเวลาในการที่จะวางแผนไว้ว่าจะขนคนออกมาให้หมดตามที่ลงทะเบียนไว้ เรื่องนี้ตอบค่อนข้างยากแม้ว่าความคาดหวังที่จะขนคนไทยกลับมาวันละ 400 คนแต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ และทำให้มีการเปลี่ยนใจในภายหลังด้วย แต่ยืนยันว่าจะขนคนไทยกลับมายังประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด
ทั้งนี้ความต้องการแรกของกระทรวงต่างประเทศ คือ การอพยพคนไทยด้วยกันบินตรงจากอิสราเอลสู่ไทย แต่ถ้าหากไม่สามารถ ก็ได้มีการประสานติดต่อกับประเทศอื่นๆ เพื่อจะนำคนไทยไปพักรอเที่ยวบินที่จะกลับมารับเบื้องต้น ตอนนี้ก็จะมีอียิปต์ จอร์แดน และดูไบ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นในโลกออนไลน์ที่มีการพูดถึงว่ามีนายจ้างชาวอิสราเอลยังคงบังคับให้คนไทยออกไปทำงานอยู่ในช่วงภาวะสงคราม ได้มีการประสานกับทางสถานทูตอิสราเอล พบว่าเป็นความเข้าใจผิด เป็นการย้ายพื้นที่ทำงานไปอยู่ในที่ปลอดภัย ไม่ใช่เป็นการบังคับขู่เข็ญให้ออกไปทำงาน ซึ่งได้ประสานไปยังนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นคนไทยให้เข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนอีกความกังวลของบรรดาญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะญาติของผู้ที่เสียชีวิต มีความกังวลเรื่องของการพิสูจน์อัตลักษณ์ตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับทางการอิสราเอลทราบข้อมูลว่าการพิสูจน์อัตลักษณ์ ณ เวลานี้ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะภารกิจหลักที่ทำอยู่ตอนนี้คือการนำร่างของผู้เสียชีวิตออกมาจากพื้นที่ก่อน.-สำนักข่าวไทย