กระทรวงการต่างประเทศ 12 ต.ค. – นายกฯ นำประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินเหตุภาวะความไม่สงบในตะวันออกกลาง กำชับเตรียมพร้อมเครื่องบินกองทัพ-เอกชนรับคนไทยกลับทันที เชื่อหลายประเทศจะเห็นใจคนไทยเสียชีวิตมาก ลั่นความปลอดภัยคนไทยสูงสุด ระบุหารือทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พรุ่งนี้ (13 ต.ค.) คุยเรื่องอพยพ-ช่วยเหลือตัวประกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางถึงประเทศไทย ในเวลา 16.30 น. หลังกลับจากการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้เดินทางมายังกระทรวงการต่างประเทศ ในเวลา 17.07 น. เพื่อประชุมร่วมกับศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อาทิ นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ, นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา, สถานกงสุลใหญ่ไทยในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง, กองบัญชาการกองทัพไทย, กรมข่าวทหารบก และกรมสุขภาพจิต
โดยที่ประชุมวันนี้จะมีการรายงานความคืบหน้ากรณีผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต การอพยพคนไทย ติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รายงานสถานการณ์ในอิสราเอล หลังเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เข้าสู่วันที่ 7 แล้ว ซึ่งตั้งแต่เมื่อคืน (11 ต.ค.) จนถึงวันนี้ (12 ต.ค.) ยังคงมีการโจมตีระหว่างกันด้วยจรวดอยู่บ้าง และในวันนี้ยังมีการยิงระเบิดเข้ามาในพื้นที่ฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ และทางเหนือของอิสราเอล เป็นระยะ
นายเศรษฐา แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินเหตุภาวะความไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่าหลังตนลงเครื่องบินที่ บน.6 จากการไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศมา ก็ได้เดินทางมาประชุมที่นี่ เพราะมีความกังวลกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่มีการขยับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ และมีชาวไทยที่อยู่ในเขตอันตรายกว่า 6,000 คน
วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่มีลอตแรกเดินทางกลับเข้ามาในไทยแล้ว แต่ยังเหลืออีกจำนวนมากที่เราจะต้องลำเลียงกลับเข้ามา ซึ่งเข้าใจถึงความห่วงใยของญาติพี่น้อง และความกังวลของแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอล เพราะมีหลายปัญหา ทั้งเรื่องการบินเข้าไปในอิสราเอล ที่วันหนึ่งมีเครื่องบินได้ไม่ถึง 1 ไฟลต์ โดยจะมีการพูดคุยกันว่ากองทัพบกและกองทัพอากาศจะเอาเครื่องบิน C-130 และแอร์บัส A340 เข้าไปรับผู้อพยพในวันที่ 14 ตุลาคม เป็นเที่ยวบินต่อไป เพื่อรับคนไทยกลับมาประมาณ 140 คน และมีการขนเสบียงไปให้ด้วย แต่ตนได้สั่งการไปว่าลำเดียวนั้นเป็นอะไรที่น้อยมาก ตนจึงได้สั่งการในที่ประชุมและที่ประชุมก็เห็นด้วย หลังจากนี้ให้เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะให้มีเครื่องบิน โดยที่สายการบินนกแอร์ จำนวน 2 ลำ แอร์เอเชีย 2 ลำ ส่วนการบินไทยยังอยู่ระหว่างรอคำตอบ ซึ่งสายการบินไทยไม่มีเที่ยวบินที่บินตรงไปประเทศอิสราเอล จึงติดขัดเรื่องเอกสารมากกว่าความพร้อม และหากการบินไทยไม่สามารถที่จะบินตรงไปยังกรุงเทลอาวีฟได้จะเจรจาให้การบินไทยไปจอดในประเทศใกล้เคียง จากนั้นจะให้สายการบินพาณิชย์อพยพคนไทยไปขึ้นเครื่องการบินไทยในประเทศนั้นๆ และตนได้สั่งการทางอ้อมไปแล้วในที่ประชุม ซึ่งต้องยอมรับว่าในการปฏิบัติภารกิจตรงนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคนอิดโรย เพราะทุกคนก็ทำงานอย่างหนัก
ทั้งนี้ ต้องนำผู้อพยพเกือบ 6,000 คน มาให้ได้ ตนเชื่อว่าคณะทำงานจากกระทรวงการต่างประเทศทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งได้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่จากประเทศใกล้เคียง เข้าไปอำนวยความสะดวกให้คนไทยเดินทางกลับอย่างปลอดภัยที่สุด ขอสถานการณ์ในอิสราเอลยังไม่ปลอดภัยถนนหลายสายถูกสกัด จึงต้องมีการพูดคุยเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง ให้อำนวยความสะดวกให้ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็กำลังประสาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เรื่องบางเรื่องที่หลายคนมองว่าจะสามารถนำเครื่องบินออกไปเลยนั้น มันไม่ใช่เพราะเที่ยวบินพิเศษจะต้องมีการขออนุญาตการเปิดน่านฟ้า ซึ่งต้องขออนุญาตผ่านน่านฟ้าถึง 10 ประเทศมันเป็นไปได้หรือไม่ จริงๆ แล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็ให้ความกรุณา ซึ่งในอดีตต้องใช้เวลาการเป็นเดือนในการขออนุญาต ในการจะขอผ่านน่านฟ้าในแต่ละประเทศ แต่ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศได้ สามารถเร่งขออนุญาตได้เพียง 2 วัน และหลังจากนี้จะมีการเจรจาให้ได้อย่างเร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงให้ได้ ขณะเดียวกันได้มีการสั่งการเครื่องบินทั้ง 4 ลำให้เตรียมความพร้อม รวมถึงความพร้อมของการบินไทยหากได้คำตอบก็สามารถที่จะขึ้นบินได้ทันที
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ระบุถึงที่ประชุม โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ เทลอาวีฟ ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการอพยพแรงงานมายังจุดปลอดภัยวันละ 200 คน ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เราสามารถบินออกมาได้วันละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งถ้าหากจะอพยพทั้งหมดจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน ยืนยันจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังวิงวอนให้สายการบินเอกชนที่พอจะช่วยได้และมีเครื่องบินเหลืออยู่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือเพื่อช่วยกันในภารกิจดังกล่าว โดยกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมจะอำนวยความสะดวกในการบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศ เพราะถือว่าเป็นภาวะสงคราม ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
เมื่อถามถึงทิศทางการเจรจาขอปล่อยตัวแรงงานชาวไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 16 คนนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็มีการเจรจาตลอดเวลาในทุกช่องทางที่สามารถเป็นไปได้ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงไม่สามารถที่จะเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยตนมั่นใจในการเจรจา และมีความหวังว่าตัวประกันจะได้รับความปลอดภัย ถูกปล่อยตัวออกมา ซึ่งยอมรับว่าเราเองก็กดดัน แต่เราไม่อยู่ในสภาวะประเทศคู่ขัดแย้ง ถ้าหากดูยอดผู้เสียชีวิต ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศให้ความเห็นใจที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกที่จะอพยพ เปิดน่านฟ้า ยืนยันเราจะพยายามทำภารกิจนี้ให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด
ส่วนกรณีผู้เสียชีวิต พี่ญาติพี่น้องมีความกังวลว่าเมื่อไรจะรับศพกลับมาเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามอย่างเต็มที่ ก็ได้กดดันทางอิสราเอลในเรื่องของการชันสูตรพิสูจน์อัตลักษณ์ การเสียชีวิตในภาวะสงคราม รัฐบาลอิสราเอลจะมีเงินชดเชยให้ แต่ถ้านำศพกลับมาก่อน โดยไม่มีการออกหลักฐาน อาจจะทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า ยืนยันกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาในทุกมิติ
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้จะมีการหารือกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จะมีการขอความเห็นใจ และขอความช่วยเหลือ เพราะเราไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เรามีการสูญเสียที่สูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลำเลียงศพ การช่วยเหลือตัวประกัน และการเจรจาให้อิสราเอลลำเลียงคนงานที่ต้องการจะกลับให้มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และถึงสนามบินโดยเร็วที่สุด รวมถึงการเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินของเราเข้าได้ เชื่อว่าความลำบากและการสูญเสียจากเหตุความรุนแรง ทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและรวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันจะมีการเจรจาขอความช่วยเหลือจากสายการบินของอิสราเอล ที่บินออกมาจากนอกอิสราเอลไปรับชาวอิสลามที่ประเทศต่างๆ ให้ช่วยรับคนไทยไปไว้ยังประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะรอในการกลับประเทศ สิ่งที่ภาวนาคือไม่อยากให้สถานการณ์เลวร้ายไปจนถึงขั้นต้องปิดน่านฟ้า
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแรงงานไทยที่ยังอยู่ในพื้นที่สีแดง แล้วยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ว่าเรื่องนี้ในวันพรุ่งนี้จะมีการพูดคุยเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้ว่ารายได้จะสำคัญแต่ความปลอดภัยต้องสำคัญที่สุด ตรงนี้จะมีการพูดคุยให้ชัดเจนกับทางเอกอัครราชทูตอิสราเอลฯ และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการอพยพคนไทยออกมาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนเรื่องเงินเรื่องงานเธอเป็นเรื่องรอง.-สำนักข่าวไทย