กรุงเทพฯ 28 ก.ย.-ผลสำรวจ FTI CEO Poll เดือน ก.ย.66 ชี้นโยบายรัฐยังไม่ตรงใจ ตอบโจทย์ปานกลาง ด้าน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค. หดตัวต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบเศรษฐกิจในและต่างประเทศ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฯ FTI CEO Poll ครั้งที่ 33 ในเดือน ก.ย.66 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.พิจารณาจากการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับปานกลาง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลใหม่มีหลายเรื่องที่ ส.อ.ท.ให้ความสนใจและมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ เช่น ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศเป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้เป็นลำดับแรก ส่วนโยบายในการดูแลแรงงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถของแรงงาน (Pay by Skills) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามความสามารถ และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลง 7.53% ช่วง 8 เดือนปี 66 อยู่ที่ระดับ 94.67 หดตัวเฉลี่ย 4.95% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 58.18% ช่วง 8 เดือนเฉลี่ย 60.09%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี MPI หดตัว เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม การส่งออกเดือนส.ค. 66 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะข้างหน้าต่อไป
นอกจากนี้ เศษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง. -สำนักข่าวไทย