ทำเนียบรัฐบาล 26 ก.ย. – “สมศักดิ์” เผยส่งทีมงานลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถามความเห็นความจำเป็นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดูแลสถานการณ์ ก่อนนำเข้าพิจารณาใช้ต่อหรือไม่ใน ครม. 17 ต.ค.นี้ รับถ้ายกเลิกหมด 22 อำเภอ ยังอันตราย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่ออายุการประกาศใช้ออกไปเพียง 1 เดือน ว่า จะครบ 1 เดือนในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ฝ่ายเลขาฯ ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว โดยรับฟังข้อมูลจากกองทัพ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
“ ผมบอกให้รับฟังความเห็นผู้นำศาสนา โรงเรียน หรือการเมืองในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเท่าที่ทำได้ เพราะ 1 เดือนที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลาที่ค่อนข้างน้อย หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่การประชุมครม. วันที่ 17 ต.ค. ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติรูปแบบใหม่ ถ้าถามว่ายกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 22 อำเภอได้หรือไม่ คงยังเพราะอันตรายเกินไปที่ตัดสินใจแบบผลีผลาม” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังในสัปดาห์แรก มีบางส่วนไม่เห็นด้วย บางส่วนก็อยากปรับให้ใช้แนวทางและมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งตนได้ชี้แจงในสภาฯ ให้รับทราบแล้ว คือ พ.ร.บ.ปราบปรามการทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งจะทำให้การทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประโยชน์ เพราะมีเรื่องของการบันทึกภาพและเสียงการจับกุม คุมขัง จนถึงขั้นส่งพนักงานสอบสวนหรือฝ่ายปกครอง จะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องละเอียดรอบคอบ คิดว่าเขาคงไม่มีปัญหา แต่ประชาชนอาจยังมีความห่วงใย
เมื่อถามย้ำว่า คนที่ไม่เห็นด้วย เป็นระดับชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ทำอย่างไรให้เกิดความสบายใจ ซึ่งเราต้องรับฟังและหาความพอดี ส่วนจะปรับเปลี่ยนห้วงระยะเวลาที่ประกาศใช้เป็น 1 เดือน หรือ 2 เดือนนั้น การประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 3 เดือนเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ที่ให้ขยายต่อครั้ง ซึ่งคงขยายได้จนสุดเวลา หากครบ 3 เดือนก็ขยายใหม่ เป็นไปตามระเบียบที่ให้อำนาจไว้
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องปรับตัวกับการใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องพูดคุยกัน และพูดถึงการใช้กฎหมายความมั่นคงในสถานการณ์ปกติ ซึ่งมี 5-6 ประเด็นหลัก เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบทั้งหมด โดยมีกรอบระยะเวลาทำงาน 1 เดือน กลางเดือนต.ค.ต้องมาประชุมกัน เพื่อให้ทันนำเรื่องเข้าครม. 17 ต.ค.
ส่วนที่พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่าหากจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องมีเครื่องมืออื่นให้เจ้าหน้าที่ทำงาน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องเครื่องมือการทำงานต้องพูดคุยกัน ซึ่งทีมที่ลงไปสำรวจข้อมูลและพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และตำรวจแล้วว่าต้องเพิ่มเติมหรือลดอะไร.-สำนักข่าวไทย