กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยหลังสตอกข้าวค้างเก่าหมดดันราคาข้าวไทยและตลาดโลกพุ่งขึ้นทันทีร้อยละ 20 โดย 6 เดือนส่งออกแล้วกว่า 5.5 ล้านตัน ทั้งปี 10 ล้านตันได้แน่ แนะรัฐวางกรอบยุทธศาสตร์ข้าวระยะยาวไม่ควรนำระบบจำนำมาใช้อีก ยอมรับ พ.ร.ก.ต่างด้าวกระทบส่งออกข้าวไทย
ร้อยตำรวจโทเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลก โดยสามารถส่งออกข้าวรวมกว่า 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการข้าว และเชื่อว่าครึ่งหลังของปีการส่งออกข้าวจะดีขึ้น และน่าจะได้ถึง 10 ล้านตันตามเป้าหมาย เนื่องจากรัฐบาลยังมีสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีน อีกกว่า 600,000 ตัน และประเทศต่าง ๆ ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตลอดจนอิรัก บังกลาเทศ และศรีลังกา มีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทย
ขณะที่ราคาข้าวขณะนี้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 หลังจากรัฐระบายข้าวเพื่อการบริโภคของคนในสตอกรัฐบาลกว่า 14 ล้านตันหมด ทำให้ไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติข้าวตกต่ำ และขณะนี้ตลาดข้าวเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกตลาดและราคาข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขณะนี้ราคาข้าวไทยอยู่ที่ 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 360-360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ 8,500- 9,000 บาทต่อตัน ทำให้ราคาข้าวสารขาวในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ตันละ12,500-13,000 บาทต่อตัน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้การส่งออกข้าวของไทยมีทิศทางดีขึ้นและการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับไม่ให้กรมการค้าต่างประเทศเปิดประมูลข้าวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์กว่า 500,000 ตันนั้น ไม่มีผลกระทบต่อตลาดและการส่งออกข้าวของไทย เพราะเป็นข้าวเพื่ออุตสาหกรรมพลังงาน และการชะลอประมูลข้าวกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อการส่งออกข้าวขณะนี้ คือ การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เนื่องจากการขนส่งข้าวล่าช้าออกไปจากเดิมใช้เวลา 7-10 วัน ขณะนี้ต้องใช้เวลาขนส่งข้าว 30 วัน เพราะไม่มีแรงงานมาขนข้าว เก็บเกี่ยว ซึ่งกว่าร้อย 90 จะเป็นแรงงานกัมพูชา เนื่องจากต่างหนีกลับประเทศ เพราะกังวลความผิดและโทษค่าปรับที่สูง ซึ่งขณะนี้แรงงานหายไปแล้วกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนแรงงานที่ขนส่งข้าว ทำให้ผู้ส่งออกลังเลที่จะรับคำสั่งซื้อข้าว เพราะกังวลว่าจะส่งมอบไม่ทัน และน่าจะทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยในช่วง 2-3 เดือนนี้ลดลงไปบ้าง และส่งผลกดดันให้ราคาข้าวอาจจะลดลงในที่สุด จึงอยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบด้วยเช่นกัน . – สำนักข่าวไทย