กรุงเทพฯ 7 ก.พ.-นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินส่งออกข้าวไทยปี 67 หลังในปี 66 ไทยส่งออกได้กว่า 8.7 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ 8 ล้านตัน แต่ในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะส่งออกได้เพียง 7.5 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นคาดการณ์เดียวกับภาคเอกชน ซึ่งผู้ส่งออกข้าวไทย ย้ำว่า การค้าข้าวโลกที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะไทย- เวียดนาม จะเป็นคู่แข่งสำคัญ ในการครองตลาดเป็นผู้ส่งออกข้าว อันดับ 2 ของโลก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากข้อมูล ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวของโลก จะทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว เฉลี่ย 513 ล้านตัน โดยจีน มีผลผลิตมากที่สุด 144 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินเดีย 132 ล้านตัน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ผลิตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประมาณ 20 ล้านตัน และ คาดการณ์การส่งออกในปี 67 ตรงกับการประเมินของไทยที่ 7.5 ล้านตัน ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเท่ากับปริมาณการส่งออก ของเวียดนามที่ 7.5 ล้านตันเช่นกัน รองจากอินเดีย ที่ 16.5 ล้านตัน จึงเป็นความเสี่ยงของไทย ที่จะต้องรักษาอันดับการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากมีโอกาสที่เวียดนาม จะแซงไทยได้ เพราะเริ่มเห็น ตัวเลขการส่งออกข้าว เวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปกติการส่งออกจะเฉลี่ยเพียง 6 ล้านตันต่อปีเท่านั้น แต่เห็นชัดเจนขึ้นจากปี 2566 เวียดนาม ส่งออกได้ถึง 8 ล้าน 1 แสนตัน และเริ่มทำตลาดตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปริมาณ 5 แสนนั้น เวียดนาม ชนะประมูลไปกว่า 4 แสนตัน ที่เหลือเป็นของปากีสถาน และเมียนมา โดยที่ไทย ไม่สามารถประมูลได้เลย เนื่องจากราคาข้าวสูงกว่าคู่แข่งเสนอราคาที่ 690 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่เวียดนาม เสนอราคาเพียงตันละ 655 เหรียญสหรัฐ ต่างกันถึง 40 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญ การผลิตข้าวของเวียดนาม ปัจจุบัน ได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 970 กิโลกรัม แต่ไทย ผลิตได้เพียง 450 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น
นอกจากนี้ การทำตลาดข้าว ผ่านการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ยังมองว่า เกิดได้ยากมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศปรับเปลี่ยนการซื้อข้าว โดยใช้เอกชน เป็นผู้นำเข้าแทน แล้วเก็บภาษีนำเข้า เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเกษตร และยังมีความคล่องตัวกว่า อย่างไทยเอง หากจะขายข้าว แบบ G to G จะต้องผ่าน นบข. และครม. อาจจะกินเวลาไปถึง 2 เดือนกว่าจะส่งมอบได้ โดยเรื่องของการแข่งขันที่มีสูงแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่ต้องติดตาม ทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย หากมีการทบทวนหันมาส่งออกข้าวอีกครั้ง จะกระทบกับตลาดข้าวทั่วโลกทันที เพราะราคาข้าวอินเดียอยู่ในระดับต่ำมาก และปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อการผลิตมากน้อยแค่ไหน
ร้อยตำรวจโท เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทั้งการผลิต การส่งออก ที่จะกระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศ อย่างเดือนแรกของปีนี้ จากใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าไทย ส่งออกแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากส่งออกเกิน 1 ล้านตันติดต่อกันหลายๆเดือน ก็จะมีผลต่อราคาแน่นอน
ขณะที่ ประเด็นที่อยากให้รัฐ เข้ามาดูแล คือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ต้องมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวน และเร่งพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของข้าวไทย ทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ให้ทันกับคู่แข่งทั้งเวียดนาม และอินเดีย ที่ภายในระะยเวลาไม่ถึง 10 ปี มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 800 กิโลกรัม ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปกติส่งออก 8-10 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ปัจจุบันขยับไปถึง 16 ล้านตัน และต้องทำคู่ขนานกับการพัฒนาระบบชลประทาน
นอกจากนี้ ต้องดูแลเรื่องค่าขนส่ง จากค่าระวางเรือที่กำลังปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ปัจจุบันขยับขึ้นแล้ว 4 เท่าตัว เป็นกว่า 4,000 -6,000 เหรียญสหรัฐฯ จากปลายปีที่แล้ว ส่งออกไปยุโรป-สหรัฐ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ และยังมีการขยับขึ้นต่อเนื่องได้.-514-สำนักข่าวไทย