เชียงใหม่ 1 ก.ค. – กรมชลประทานนำร่องโครงการฝากน้ำ Two in one มั่นใจช่วยสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนช่วงฤดูแล้งและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 33 กองพันสัตว์ต่าง กองพลทหารราบที่ 7 กองรบพิเศษที่ 5 และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์กรมหาชน) จัดทำ “โครงการฝากน้ำ ป้องกันภัยแล้ง” ขึ้นมาเป็นโครงการนำร่อง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติช่วงที่แหล่งน้ำสำคัญ ๆ ขาดแคลนน้ำ โดยเป็นการนำน้ำจากลำน้ำแม่แตงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการส่งน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกไปเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางน้ำให้แก่คนเชียงใหม่ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน
สำหรับหลักการบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ นั้น จะเริ่มจากการสูบน้ำจากคลองน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาที่รับน้ำมาจากฝายแม่แตงเข้าไปเก็บกักในแหล่งน้ำ 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหยวก สามารถเก็บกักได้ 300,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สระเก็บน้ำในศูนย์ประชุมนานาชาติ 6 แห่ง เก็บกักได้ 532,000 ลบ.ม. สระเก็บน้ำในกองพันสัตว์ต่าง 1 แห่ง เก็บกักได้ 120,000 ลบ.ม. สระเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 3 แห่ง เก็บกักได้ 119,000 ลบ.ม. และสระเก็บน้ำพลรบพิเศษที่ 5 อีก 1 แห่ง เก็บกักได้ 20,000 ลบ.ม. รวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้าน ลบ.ม. โดยจะทำการสูบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่เกษตรกรกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งปริมาณน้ำช่วงนั้นจะมีปริมาณมากกว่าความต้องการ จึงไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการทำการเกษตร จากนั้นจะนำมาใช้ในช่วงฤดูแล้งที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และหากประสบผลสำเร็จกรมชลประทานจะขยายผลไปดำเนินโครงการในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ กรมชลประทานมีแผนที่จะทำการปรับปรุงคลองแม่แตงให้สามารถดักน้ำที่หลากจากดอยสุเทพปุยที่อยู่ฝั่งตะวันตกเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่แทนการไหลเข้าเมืองเชียงใหม่ พร้อมทั้งทำการปรับปรุงอาคารรับน้ำจากห้วยช่างเคี่ยนและห้วยแก้วลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ก่อสร้างกำแพงริมคลองช่างเคี่ยนทั้งสองฝั่ง น้ำไม่ล้นตลิ่ง โดยระดับสันกำแพงกำหนดให้ใกล้เคียงกับระดับดินของคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาหรือสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อบังคับน้ำในห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้วให้ระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ตลอดจนปรับปรุงขยายอาคารรับน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของห้วยช่างเคี่ยนให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ในปริมาณ 25.62 ลบ.ม./วินาที และห้วยแก้วให้รองรับน้ำหลากได้ 26.51 ลบ.ม./วินาที.-สำนักข่าวไทย