คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล 16 มิ.ย.- 3 สมาคมโรคติดเชื้อ ย้ำ ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนควรร่วมมือกันป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีแนวโน้มไม่ลดลง ขณะที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าลดอัตราตายของโรคไข้เลือดออกลงร้อยละ 50 และลดอัตราป่วยของโลกลงร้อยละ25เปอร์เซ็นต์ภายในปี 63
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีรพงศ์ ตันฑวิเชียร นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกัน แถลงว่าจากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วม กำหนดกันให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียนมาตั้งแต่ปี 53 เพื่อเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ เพราะการระบาดของยุงลายที่นำเชื้อไข้เลือดออก มีถิ่นกำเนิดแพร่หลายในประเทศอาเซียน และพบว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงโดยเฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 70เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั่วโลก
ทั้ง 3 สมาคม ซึ่งได้แก่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย จึงหวังให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องหันมาตั้งเป้าลดอัตราตายของโรคนี้ลง เนื่องจากสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในภูมิภาคอาเซียนไม่มีแนวโน้มลดลงเท่าที่ควรแต่กลับจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย 5 มาตรการคือ การวินิจฉัยและรักษาโรค , การเฝ้าระวังโรค , การควบคุมยุง ,การนำวัคซีนป้องกันโรคมาใช้ และการศึกษาวิจัย
ซึ่งการมีใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ยังเป็นวิธีป้องกันที่สำคัญที่ได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 59 ยังมีราคาสูงประมาณเข็มละ 3,000 บาทและต้องใช้ถึง 3 เข็ม แต่ประสิทธิภาพสามารถป้องกันไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ วัคซีนไข้เลือดออกได้รับการรับรองใน 16 ประเทศทั่วโลกซึ่งผลการทดลองทางคลินิกมีผลป้องกันได้ถึงร้อยละ 65 อยู่ในระดับที่ยอมรับได้นายกฯ ทั้ง 3 สมาคมแนะนำว่าประเทศไทยควรศึกษาความสำคัญของวัคซีนกับการใช้ป้องกันโรคและความคุ้มค่าในประเทศไทยรวมทั้งหาทางจับมือกันกับ 10 ประเทศอาเซียนเพื่อต่อรองวัคซีนให้ราคาถูกลง.-สำนักข่าวไทย