กรุงเทพฯ 22 มิ.ย. – กรมอุทยานฯ เพิ่มประสิทธิภาพ “เสื้อมุ้งกันยุง” ที่จัดทำขึ้นสำหรับปกป้องสุขภาพของผู้พิทักษ์ป่า โดยศึกษาวิธีเคลือบสารนวัตกรรมที่มีคุณสมบัติไล่ยุงไม่ให้มาเกาะ ชุบหนึ่งครั้งอยู่ได้นาน 6 เดือน โดยสามารถซักได้ 20 ครั้ง
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืชกล่าวว่า ได้นำทีมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ไปศึกษาวิธีการผสมผลิตภัณฑ์ชุบเสื้อมุ้งตาข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุงและแมลงต่างๆ ณ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง อาคาร 4 ชั้น 5 กรมควบคุมโรค โดยสารดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่มีคุณสมบัติไล่ยุงไม่ให้มาเกาะเสื้อ ชุบหนึ่งครั้งอยู่ได้นาน 6 เดือนและซักได้ 20 ครั้ง โดยมีดร. แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง เป็นผู้สาธิต นอกจากนั้นยังสนับสนุนสารผสมผลิตภัณฑ์ชุบมุ้งตาข่ายป้องกันและกำจัดยุง ส่วนเสื้อมุ้งกันยุงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม Golf Aid อีกด้วย
ทั้งนี้กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าจะนำเทคนิคนี้ ไปเผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีความเสี่ยงจากยุงและแมลงระบาดหนักในช่วงฤดูฝนที่อาจจะก่อโรคต่างๆ ระหว่างออกปฏิบัติงานข้างนอกนอกที่ตั้ง (outdoor transmission ) เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบเจอี และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า
สำหรับเสื้อมุ้งตาข่ายเหล่านี้ จะแจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้สวมใส่ป้องกันยุงและแมลงในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามความประสงค์ของนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ที่มีความห่วงใยแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง.-สำนักข่าวไทย