กรุงเทพฯ 2 พ.ย. – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมนำร่องให้ชาวนาเครือข่ายนำข้าวมาขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยเปิดพื้นที่ตลาดนัดด้านหน้าวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมแนะทุกภาคส่วนช่วยชาวนาไทย
นายจิตติ มงคลชัย คณะบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค โดยระยะแรกมีเครือข่ายชาวนาจากจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี และลพบุรี นำข้าวมาขายผู้บริโภคในตลาดนัดด้านหน้าวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ประมาณ 2,000 กิโลกรัม ในอนาคตเตรียมส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมช่วยชาวนาในการพัฒนาและบริหารการตลาดออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านการบรูณาการความรู้หลักสูตรการพัฒนาชุมชน
นายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำแทบทุกปี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพในองค์รวม จึงต้องแก้ไขภาคเกษตรกรควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายหรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ควบคู่ไปกับสร้างคุณค่าให้กับข้าวแต่ละท้องถิ่น ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อยกระดับเป็นสินค้าพรีเมียมผ่านการสร้างแบรนด์ การสร้างเรื่องราวและความแตกต่างให้กับสินค้า การสร้างรูปลักษณ์หรือแพ็คเกจ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค
ส่วนภาครัฐควรมีบทบบาทผลักดันการจัดตั้งโรงสีข้าวที่มีประสิทธิภาพสูงภายในชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อขจัดปัญหาถูกโรงสีข้าวกดราคา อีกทั้งควรสนับสนุนช่องทางกระจายสินค้าข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษา ควรมีส่วนเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ทั้งในส่วนพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพข้าว การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ช่วยด้านบริหารจัดการ การตลาด การบริหารความเสี่ยงหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และภาคประชาชนควรสนับสนุนซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ชาวนาไทยมีผลผลิตข้าวรวมกว่า 6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมกว่า 96,000 ล้านบาท แต่ชาวนาไทยขายข้าวได้เพียง 5,000 บาทต่อตัน. -สำนักข่าวไทย