เชียงใหม่ 9 มิ.ย. – แนวชายแดนทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นถิ่นทุรกันดาร เด็กบนดอยสูงจึงด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่บนดอยที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีโรงเรียนสอนภาษาจีนชุมชน เปิดมานานกว่า 40 ปี เด็กหลายคนจบไปเป็นเจ้าของกิจการ มีงานทำ มีรายได้
เวียงแหงอำเภอเล็กๆ กลางหุบเขา สุดเขตชายแดนไทย-เมียนมาร์ ด้านตะวันตกของเชียงใหม่ มีผู้คนอาศัยอยู่ถึง 9 ชนเผ่า รวมทั้งชาวจีนยูนนานที่ตั้งรกรากมาหลายสิบปี จึงมีโรงเรียนสอนภาษาจีนในชุมชนอยู่ด้วย
เด็กๆ กว่า 800 คน มีทุกชนเผ่า ใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนกวงหัวแห่งนี้ ซึ่งก่อตั้งมากว่า 40 ปี มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึง ม.6 สอนช่วง 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม จันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์เต็มวัน เรียนกันตั้งแต่ฟังพูดอ่านเขียน ไปจนถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ค่าเล่าเรียนเพียงเดือนละ 200-550 บาท หากยากจนขอเรียนฟรีได้ ปีนี้มีนักเรียนเรียนฟรีกว่า 100 คน
แต่ละปีจึงมีนักเรียนมาเรียนภาษาจีนที่นี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กชนเผ่าอื่นๆ เพราะพวกเขามองว่าภาษาจีนมีบทบาทมากขึ้น และเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้อนาคตพวกเขาดีขึ้นได้ รุ่นพี่ที่จบไปหางานง่าย มีรายได้สูงเดือนละนับแสนบาท หรือทำการค้าเป็นเจ้าของธุรกิจ
ธนวินทร์ หรืออาเซิน เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าจากกวงหัวและใช้ภาษาจีนสร้างเนื้อสร้างตัว จากเด็กยกกระเป๋า ไกด์ทัวร์ เซลล์แมน จนวันนี้เป็นเจ้าของร้านอาหารรับทัวร์จีนในเชียงใหม่และร้านขายสินค้าอีกหลายสาขา มีรายได้ปีละสิบกว่าล้าน
กวงหัว มีความหมายถึงแสงสว่าง ซึ่งไม่ผิดจากความเป็นจริง เพราะโรงเรียนแห่งนี้ช่วยส่องทางอนาคตให้เด็กๆ ตามแนวชายแดนให้มีโอกาสสร้างชีวิตให้ดีขึ้นได้ และเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการศึกษาที่สอนความรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตได้จริง. – สำนักข่าวไทย