กรุงเทพฯ 21 เม.ย.-ภาคเอกชน-นักวิชาการตอกภาครัฐอย่านิ่งเฉยทบทวนค่าไฟฟ้าลดเดือนร้อนของประชาชนด่วน ระบุแม้เป็นช่วงเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ หากไม่ทบทวนช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนทั้งประชาชนและอุตสาหกรรมร่วมถึงภาคการค้าและบริการ ย้ำภาครัฐควรหาแนวทางลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ลดลงได้มากกว่านี้ได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) เตรียมทบทวนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในส่วนของภาคเอกชนและประชาชนใหม่ในวันนี้นั้น โดยไม่ว่าจะปรับลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วยมาอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วยก็ดี ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อภาคเอกชนและประชาชนอย่างมาก แต่ก็อยากให้ภาครัฐอย่านิ่งเฉยไปมากกว่านี้ เพราะภาคเอกชนและประชาชนอยากเห็นภาครัฐควรพิจารณาค่าไฟฟ้าให้ปรับลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้แบบให้มีเสถียรภาพ เพราะหากดูภาพรวมเศรฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว แต่สุดท้ายภาระด้านต้นทุนการดำเนินงานยังมีอัตราที่สูงจะทำให้การฟื้นตัวด้านเศรษกิจไทยจะโตได้ไม่เต็มทีมากนัก เพราะจะค้องแบกรับภาระด้านต้นทุนด้านใช้ไฟฟ้าที่สูงมาก
“ภาคเอกชนเห็นว่าภาครัฐจะต้องเปิดกว้างมานั่งคุยกันทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องเหล่านี้ โดยไม่เกี่ยวข้องว่าอยู่ในช่วงหาเสียงของพรรคการเมือง เพราะเชื่อว่าหากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือทบทวนยิ่งจะทำให้เศรษกิจไทยฟื้นตัวได้ลำบาก ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกของไทยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาติดลบมาโดยตลอด รวมทั้งหากดูตัวเลขอัตราค่าไฟฟ้าของไทยแม้ว่าจะปรับลดลงมาแล้วถือว่ายังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน ดังนั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องน่าจะพิจารณาถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นถือว่ากระทบทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม การค้า ธุรกิจโรงแรม ประชาชนและอื่นๆอีกด้วย”นายสนั่นกล่าว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนมานั่งร่วมกันพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศใหม่เพื่อเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยควรเป็นอัตราใดถึงจะเหมาะสมและให้ทุกฝ่ายนอมรับได้ แม้ในช่วง 3-4 เดือนนี้อัตราค่าไฟฟ้ายังอยู่ในอัตราสูงแต่จะมีหนทางใดที่จะให้การช่วยเหลือหรือมาตรการเสริมเพื่อลดบรรเทาผลกระทบให้ทุกฝ่ายได้น้อยลงบ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าราคาค่าไฟฟ้าเอฟทีของไทยแม้ยังจะมีปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคสำคัญแต่เชื่อว่ายังจะต้องมีแนวทางเสริมเพื่อลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนได้ เพราะเวลานี้องค์ประกอบการลดค่าไฟฟ้าอาจจะทำไม่ได้มากนัก เนื่องจากยังจะต้องนำเรื่องของสัญญาการซื้อไฟฟ้าด้านต่างๆที่ภาครัฐยังมีอยู่กับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมาประกอบการพิจารณาค่าไฟฟ้าด้วย แต่หากภาครัฐยังคงปล่อยไปเช่นนี้ผลกระทบต่อทุกภาคส่วนจะยิ่งเกิดขึ้นมาและตามมา ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ คือ จะต้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศร่วมกันใหม่เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับและรู้ถึงปัญหาข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นของราคาค่าไฟฟ้าของไทย.-สำนักข่าวไทย