พรรคประชาธิปัตย์ 10 เม.ย.-ทีมเศรษฐกิจพร้อมอัดฉีดเงิน 1ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง กระจายรายได้ ไม่เพิ่มหนี้รัฐ ลดหนี้ครัวเรือน ผ่าน 16 นโยบาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเปิดนโยบาย “ประชาธิปัตย์ อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ใครได้อะไร” เพื่อนำเสนอแนวทางในการใช้เงินอัดฉีด 1 ล้านล้านบาท เข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศและสร้างรายได้ให้กับคนไทย นำโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตซีอีโอ บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 5% ต่อปี พร้อมลดช่องว่างระหว่างประชากรโดยไม่สร้างหนี้สาธารณะหรือบั่นทอนการทำงานของระบบการเงิน และลดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งมีเสถียรภาพและยั่งยืนผ่าน 16 นโยบาย
โดยในระยะสั้นจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มสภาพคล่องแก้ข้อจำกัดเงินทุนหมุนเวียน โดยแบ่งเป็นระดับฐานราก ด้วยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ตามพ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ส่วนระดับกลาง จะปลดล็อคกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ข้าราชการในวงเงิน 1 แสนล้านบาท และปลดล็อคกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานบริษัทในวงเงิน 2 แสนล้านบาท สามารถนำเงินกองทุนทั้งสองรวม 300,000 ล้านบาท ไปซื้อบ้านหรือลดหนี้ที่อยู่อาศัย และระดับ SME โดยการเพิ่มทุน SME และ START UP วงเงิน 3 แสนล้านบาท ให้ธุรกิจมีเงินใหม่เพื่อการลงทุน ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล จะเริ่มทำทันทีภายใน 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะยาวที่จะปรับโครงสร้างและปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต โดยแบ่งเป็นเรื่องของที่ดิน ออกโฉนด 1 ล้านแปลง ให้สิทธิทำกินในที่ดินรัฐ อุดหนุนเงิน 3 ล้านบาทสำหรับการรวมแปลงที่ดินใหญ่ เรื่องประมง ผ่อนคลายมาตรการา IUU เรื่องแรงงานให้เรียนฟรีถึงป.ตรี สาขาที่ตลาดต้องการ เรื่องเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต 1 ล้านจุด ในส่วนมาตรการที่เหลืออีก 6 เรื่องจะมีผลในการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ คือ 1.ประกันรายได้สินค้าเกษตรหลัก 5 ตัว 2.ชาวนารับ 30,000 บาท จากที่ดิน ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ 3.ประมงพื้นบ้านกลุ่มละ 100,000 บาท 4.ด้านปศุสัตว์ผู้เลี้ยงโคนมจะได้ประโยชน์จากเรื่องนมโรงเรียน 365 วัน 5.ชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาทต่อปี และ6. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาพยาลและการตรวจโรคฟรี ซึ่งรวมแล้วคาดว่าจะใช้เงิน 2.2 แสนล้านบาท
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีมาถือว่าล้มลุกคลุกคลาน จีดีพีโตช้าที่สุดในอาเซียน จากผลกระทบวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากเงินเฟ้อ การขาดดุลกับต่างประเทศ การขาดดุลการคลัง โดยเฉพาะรายได้ที่ขาดหายไปจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ เงินกู้ตามพ.ร.ก. โควิด-19 2 ฉบับ (2563-2565) รวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท รวมถึงรายได้ที่เก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ (2563-2565) ประมาณ 5 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นยังมีหลุมรายได้ที่ขาดไปอีก 1 ล้านล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์จะอุดหลุมรายได้ตรงนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการขับเคลื่อนอย่างแข็งแรง
“จีดีพีเราตอนนี้ลดต่ำลง และยังมีขนาดต่ำกว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้พ้นจากบ่วงกรรมอันนี้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้จีดีพีโตเกิน 5% ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ซึ่งถ้าโตต่ำกว่าระดับ 5% จะไม่เป็นที่สนใจจจากนักลงทุน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือลดหนี้ครัวเรือนจากที่แตะ 90%ของจีดีพี และไม่สร้างหนี้สาธารณะจากที่ทะลุ 60%ของจีดีพี เราจะทำให้ระบบการเงินไทยแข็งแรง และมีเงินใหม่เข้ามา เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องทำภายใน 3-4 เดือน ซึ่งเรามีเงิน 8 แสนล้านบาทรออยู่แล้วในระบบการเงินการคลัง ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทจากการปรับโครงสร้างระบบงบประมาณและการบริหารการจัดเก็บรายได้และเงินนอกงบประมาณ” นายพิสิฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย