กรุงเทพฯ 29 มี.ค.- ศาลอาญากรุงเทพใต้ แจงให้ กทม.คัดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีรื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิทแล้ว ชี้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ แม้จะไม่ใช่คู่ความในคดี
วันนี้ (29 มี.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ออกเอกสารชี้แจงกรณีการขอคัดคำพิพากษาคดีรื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิท ความว่า ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการ “SONDHITALK (ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง)” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 และบางช่วงของรายการกล่าวถึงการขอตรวจสอบและการคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ เกี่ยวกับกรณีคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ด. 3220/2559 ที่มีการกล่าวถึงนั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. มีผู้มายื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ดำเนินการคัดถ่ายเอกสารให้ผู้ร้องตามขอแล้ว ต่อมามีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครโทรศัพท์สอบถามและขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสอบถามความเกี่ยวข้องในคดีแล้ว ปรากฏว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่คู่ความในคดี จึงแจ้งให้ทำคำร้องเป็นหนังสือเข้ามาเพื่อจะได้เสนอคำร้องนั้นให้ผู้พิพากษาพิจารณาสั่งตามสมควร
และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับหนังสือกรุงเทพมหานคร ด่วนที่สุด ที่ กท 0405/2076 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2566 ขอความอนุเคราะห์คัดถ่ายคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ด. 2150/2546 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ด. 3220/2549 และศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณา คำร้องแล้วเห็นว่า แม้กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นคู่ความในคดี แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ศึกษา จึงเห็นควรอนุญาตให้คัดถ่ายคําพิพากษาศาลฎีกาได้ โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามขอ
การขอตรวจดูสำนวนหรือขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น หากผู้ร้องขอเป็นคู่ความในคดีย่อมสามารถขอตรวจดูสำนวนหรือขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาล เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการให้ในทันที เพราะมีคำสั่งอนุญาตไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่หากผู้ร้องขอเป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดี ต้องยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดหรือทำเป็นหนังสือ โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะนำคำร้องหรือหนังสือนั้นเสนอศาลเพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง โดยคำสั่งดังกล่าวมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี และเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว
ทั้งนี้ การขอคัดถ่ายเอกสารในสํานวนคดีนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งมอบหมายผู้พิพากษาเวรคำสั่งคำร้องให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว โดยไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย