กรุงเทพฯ 26 มี.ค.-ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ (GIT) ชี้ปัจจัยภายนอกยังน่ากังวล ฉุดยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน ม.ค.66 ติดลบเล็กน้อย แต่คุณภาพสินค้าไทย ตลาดโลกต้องการดีอยู่ พร้อมหารูปแบบสินค้าใหม่ๆ จัดประกวดออกแบบเครื่องประดับระดับโลกปีที่ 17 ถึงวันที่ 12 พ.ค.66 ผ่านเว็บไซต์ www.gitwjda.com
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 573.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.19% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 732.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.51% ซึ่งเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ ปัญหาวิกฤตพลังงาน ที่ส่งผลต่อกำลังการบริโภคของประชาชน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าหลายตลาดยังคงขยายตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 18.88% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 52.68% ญี่ปุ่น เพิ่ม 11.10% เบลเยี่ยม เพิ่ม 10.28% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 26.25% อิตาลี เพิ่ม 499.16% ส่วนเยอรมนี ลด 0.96% ฮ่องกง ลด 20.03% สหราชอาณาจักร ลด 35.74% และอินเดีย ลด 68.50% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 34.56% พลอยก้อน เพิ่ม 19.97% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 78.88% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 74.18% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.76% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 64.42% เพชรก้อน ลด 18.38% เพชรเจียระไน ลด 39.01% เครื่องประดับเทียม ลด 24.06% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า ลด 17.16% และทองคำ ลด 14.81% นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจในปีนี้ ที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนให้นานาประเทศคำนึงถึงสิ่งที่คาดไม่ถึง ท่ามกลางโลกที่เสี่ยงต่อความตื่นตระหนกมากขึ้น ทั้งวิกฤตหลังโควิด-19 ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดแผ่นดินไหวในซีเรียและตุรกี รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของชาติสำคัญ ที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก คาดว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% ลดจาก 3.4% ในปี 2565 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย จะต้องเร่งปรับตัวและใช้การทำตลาดที่เน้นเกาะกระแส BCG สร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสินค้ารักษ์โลก มีแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน สร้างอัตลักษณ์ให้สินค้า เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะให้เกิดกับสินค้า และใช้นวัตกรรมเข้ามาทำการตลาด และควรมองหาโอกาสจากตลาดที่มีจะกลับมามีบทบาทอย่างจีน จากการเปิดประเทศ ประเทศตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย ที่มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อหารูปแบบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยใหม่และตรงใจผู้บริโภคและตลาดใหม่ๆของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย สถาบัน GIT เปิดเวทีให้นักออกแบบไทย-เทศ ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลงานออกแบบเครื่องประดับ ชิงรางวัล GIT’s World Jewelry Design Awards 2023 ภายใต้แนวคิด “Glitter & Gold – The Brilliant Way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณี ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 240,000บาท ซึ่งโครงการประกวดการออกแบบเครื่องประดับขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเปิดกว้างให้นักสร้างสรรค์ และนักออกแบบ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจได้มีเวทีที่จะปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ และแรงกระตุ้นให้นักออกแบบไทยและต่างชาติ ได้พัฒนาศักยภาพ และวิสัยทัศน์ ก่อให้เกิดเกิดการแลกเปลี่ยนแนวความคิด รวมถึงมุมมองระหว่างนักออกแบบ
นอกจากนี้ สถาบันฯ GIT ได้กำหนดหัวข้อการประกวดภายใต้หัวข้อ “Glitter & Gold – The Brilliant way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว เกิดเป็นผลงานเครื่องประดับที่งดงาม โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ ซึ่งเราคาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานที่สามารถนำเสนอความสวยงามของวัสดุอันล้ำค่าอย่างทองคำ และประกายระยิบระยับของอัญมณี ประกอบกันเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอย่างลงตัว และจะต้องสามารถนำมาพัฒนาเป็นจิวเวลรี่ที่จำหน่ายได้จริง ซึ่งการประกวดครั้งนี้มีรางวัลมูลค่ารวมกว่า 240,000 บาท โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ โดยนักออกแบบจะต้องส่งแบบวาดไม่จำกัดเทคนิค หรือภาพเขียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ชิ้นใน 1 ชุดหรือคอลเลคชั่น โดยในคอลเลชั่นนั้นจะต้องมีสร้อยคอเป็นหลัก และเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ต่างหู แหวน กำไล ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 12 พฤษภาคม 66 ผ่านทางเว็บไซต์ www.gitwjda.com หรือส่งผลงานพร้อมใบสมัครทางไปรษณีย์ หรือส่งผลงานด้วยตัวเองที่ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลขที่ 140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 3 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฝ่ายฝึกอบรม โทร. +66 2 634 4999 ต่อ 301-306 และ 311-313 และดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.gitwjda.com .-สำนักข่าวไทย