ม.ธรรมศาสตร์ 28 ก.พ. – “อรรถวิชช์” ประกาศกลางเวทีภาคประชาชน “ชาติพัฒนากล้า” เดินหน้านโยบาย “ลดค่าการกลั่น หั่นค่า FT” ทุบโครงสร้างราคาน้ำมัน-ไฟฟ้า ต้องถูกลงกว่านี้ ซัดรัฐบาลล้มเหลวคุมราคาพลังงาน
28 ก.พ. 2566 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ร่วมเวทีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ในหัวข้อ “พรรคการเมืองตอบประชาชน อนาคตพลังงานไทย” โดยย้ำถึงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส รื้อโครงสร้างที่ผูกขาด ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเรื่องพลังงานเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่โคตรผูกขาด
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า น้ำมันและค่าไฟฟ้าแพงเพราะถูกยัดเยียดต้นทุนจากราคาสมมุติ ประชาชนต้องจ่ายแพงเกินจริง ส่วนกำไรมหาศาลตกอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาด อย่างเรื่องน้ำมัน แข่งขันแค่เฉพาะแถมน้ำหรือไม่แถมน้ำ แต่ไม่เคยแข่งกันด้วยราคา เพราะกำหนดราคาต้นทุนสมมุติร่วมกัน ความน่าเกลียดที่สุดคือรัฐบาลที่ยอมจำนนต่อระบบนี้
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ปีที่แล้วสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าการกลั่นสมมุติที่คิดจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป มีส่วนต่างห่างกันมาก ค่าการกลั่นสูงผิดปกติ โรงกลั่นก็กำไรมหาศาลทั่วโลก หลายประเทศใช้วิธีเก็บภาษีลาภลอยกับบริษัทกลั่นน้ำมันเพื่อไปชดเชยค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ที่มันแพงขึ้น แต่รัฐบาลไทยกลับนิ่งเฉย รัฐมนตรีคนปัจจุบัน เคยบอกว่าจะรับบริจาคจากโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งที่สามารถทำได้ชัดเจนกว่าด้วยการใช้มติ ครม.ออกพระราชกำหนด เก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นที่เป็นบริษัทมหาชน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นคณะกรรมการการควบคุมราคาสินค้า และยังเป็นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย
“ผมและนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เคยเตือนและนำเสนอแนวทางการแก้ไขลดค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอยไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างประเทศก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เราเสนอวิธีการแก้ไขตั้งแต่กองทุนน้ำมันยังติดลบไม่ถึงแสนล้าน แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ จนถึงวันนี้กระทรวงการคลังต้องไปค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมัน เป็นหนี้แสนล้าน ประชาชนต้องช่วยผ่อนทุกครั้งที่เติมน้ำมันยาว 7 ปี” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว
รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยังกล่าวถึงราคาไฟฟ้า ใช้ก็ราคาต้นทุนสมมุติเช่นกัน ที่เรียกว่าค่า FT ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ประกอบด้วย 1.ราคาก๊าซธรรมชาติ 2.ค่าเงินบาท และ 3.การซื้อไฟฟ้าสำรอง โดยปีที่แล้วโลกเผชิญกับความผันผวนหนัก จากผลกระทบสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ช่วงที่พีคมากๆ เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ราคาก๊าซธรรมชาติ Spot LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ราคาไฟฟ้าภาคครัวเรือนยูนิตละ 4.00 บาท แต่ตอนนี้ราคา Spot LNG ลดลงมาอยู่ที่ 19 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูแล้ส ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนกลับอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท อันนี้เห็นชัดได้เลยว่าต้นทุนถูกแล้ว แต่ไม่ลดให้ อ้างว่าจะทบทวนใหม่ ต้องรอถึง 4 เดือน พรรคชาติพัฒนากล้าจึงประกาศเสนอให้ลดเวลาทบทวนค่า FT ทุก 2 เดือน เพื่อให้ใกล้เคียงกับต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด
ดร.อรรถวิชช์ ยังเสนอว่า เรื่องที่ต้องสนับสนุนอย่างเร่งด่วน คือการขยายทำให้โซล่ารูฟท็อปประชาชน ชุมชน ต้องขายไฟฟ้าได้ เกิดการแข่งขัน ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลง การซื้อไฟฟ้าสำรองก็จะน้อยลง ต้นทุนค่า FT ก็จะถูกลงมาด้วย เพราะปัจจุบันที่ราคาไฟฟ้าแพง เพราะมีการซื้อไฟสำรองจากเอกชนถึง 40-50% ซึ่งเยอะเกินไป แต่ถ้าเปิดให้ประชาชนสามารถขายไฟฟ้าโซล่ารูฟท็อปกลับเข้ามาได้ ก็จะสามารถลดสัดส่วนการซื้อไฟสำรอง ต้นทุนถูกลง ไม่ใช่เปิดโอกาสให้เอกชนมีเส้นขายไฟฟ้าฝ่ายเดียว .-สำนักข่าวไทย