กรุงเทพฯ 9 ก.พ. – ดีดีการบินไทย ลั่น ออกจากแผนฟื้นฟูฯ ก่อนกำหนด ในปี 67 เผยผลดำเนินงานดีต่อเนื่อง มั่นใจรายได้ปี 65 ทะลุกว่า 9 หมื่นล้าน คาดปี 66 รายได้ยังโตต่อเนื่องอีก 40 % พร้อมโชว์กระแสเงินสด ล่าสุด สูงกว่า 3 หมื่นล้าน เดินหน้าลุยสร้างความเชื่อมั่นผู้โดยสาร –พนักงาน-เจ้าหนี้ วางเป้ากลับไปเป็นสายการบินชั้นนำของโลกอีกครั้ง
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยเผยผลการดำเนินงานในปี 2565 มั่นใจว่าจะมีรายได้สูงกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการประกอบธุรกิจ ฝูงบินมีขนาดเล็กลงแต่คุณภาพดีขึ้น ต้นทุนและรายได้ในการขายดีขึ้น ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ล่าสุด ในปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 85 และคาดว่าในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ส่วนตัวเลขผลประกอบการปี 2565 ที่ชัดเจนจะมีการประกาศช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับรายได้ในปี 2566 คาดว่า จะมีการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 อีกว่าร้อยละ 40 จากการเพิ่มเที่ยวบินอีกร้อยละ 50 โดยเฉพาะเส้นทางการบินไปยังประเทศจีนที่เพิ่งกลับมาเปิดประเทศ ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้จะเพิ่มเที่ยวบินไปยังจีนจากเดิม 3 ไฟลท์เป็น 14 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ รวมถึงจะเพิ่มเที่ยวบินไปยังประเทศญี่ปุ่น และในยุโรปมากขึ้น โดยจะมีการ จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A 350 มาเพิ่มเติม อีก 6 ลำ ในการลักษณะการเช่าดำเนินการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมย้ำว่าไม่ได้เป็นการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ ทุกอย่างยังเป็นการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ แต่เนื่องจากสามารถ ควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินการได้ดีมาก มีกระแสเงินสดในมือมากกว่า 30,000 ล้านบาท ถือว่ามีความคืบหน้าตามแผนฟื้นฟูฯแล้วกว่าร้อยละ70 ทำให้เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ภายในสิ้นปี 2567 คาดว่าจะเร็วกว่านั้นแต่ยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่
ซีอีโอ การบินไทย ยังเปิดเผยว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เจ้าหนี้ และพนักงานที่ล่าสุดมีประมาณ 15,000 คน โดยวางเป้าหมายกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำของโลกอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าอาจมีการจัดหาวงเงินกู้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่งทางธุรกิจ แต่จะยังไม่ได้กู้จริง พร้อมยืนยันขณะนี้ความจำเป็นในการขายสินทรัพย์ของการบินไทยมีน้อยลง แต่ย้ำว่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จะต้องทำการขายหรือเช่า เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดี สำนักงานสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ อังกฤษ อิตาลี ฮ่องกง รวมถึงเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้นำมาทำการบิน เช่น โบอิ้ง 777 -300 แอร์บัส A 340 และ A380 อย่างละ 6 ลำ
สำหรับภาพรวม อุตสาหกรรมการบิน ณ ขณะนี้ ถือว่าเป็นโชคดีของการบินไทย ที่เรามีโอกาสได้ปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้นในช่วงโควิด ซึ่งสายการบินอื่นๆก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการบินในปี 2566 จะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ดีมานด์ยังสูง แต่ซัพพลาย หรือกำลังการผลิตของสายการบินยังมีปัญหา ทำให้เป็นโอกาสที่ดีของการบินไทยในการแข่งขันที่ภาพรวมอาจจะยังไม่จะรุนแรงมากนัก.-สำนักข่าวไทย