กรุงเทพฯ 2 ก.พ.-กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนภาคอุตสาหกรรมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ในการทำคอนกรีต เพื่อลดภาวะเรือนกระจก เร่ง สมอ. แก้ไขมาตรฐานคอนกรีตและปูนทั้ง 71 มาตรฐาน ให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นส่วนผสม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับรายงานว่า สมอ.มีการกำหนดและแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่าการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยมีการคิดค้นพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งมีส่วนประกอบของปูนเม็ดในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมด
โดยใช้วัสดุอื่นมาผสมทดแทน เช่น หินปูน กากถลุง และปอซโซลาน เป็นต้น โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หากประมาณการเบื้องต้นในเชิงของการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน (CO2) เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงขอเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2556 โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่างๆ และมีการแบ่งชนิดครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต (เหมาะสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่น้ำกร่อย) รวมทั้งงานโครงสร้างขนาดใหญ่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. แล้ว รวมทั้งสิ้น11 ราย
ทั้งนี้ เนื้อหาของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคอนกรีตและปูนซีเมนต์ที่มีการกำหนดใหม่หรือมีการปรับปรุงแก้ไข โดยระบุให้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เป็นวัสดุที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์แล้ว จำนวน 38 มาตรฐาน เช่นคอนกรีตทนไฟ กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยแผ่นลอน ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกกลวงรับน้ำหนัก และคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น สามารถดูรายชื่อ ทั้ง 38 มาตรฐาน ได้ที่https://drive.google.com/file/d/1AX5U7kSThvF5LF_3MQdWbR6UNjyfGV4H/view โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สมอ. ยังได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 กำหนดให้เพิ่มปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัสดุในการทำกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีต และปูนซีเมนต์ จำนวน 33 มาตรฐาน เช่น กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น กระเบื้องหินขัดชนิดสองชั้น เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงหล่อสําเร็จ คอนกรีตบล็อกกลวงสําหรับพื้นคอนกรีตสําเร็จรูป กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น และคอนกรีตบล็อกประสานปูพื้น เป็นต้น สามารถดูรายชื่อทั้ง 33 มาตรฐานได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1bUND8kMmxNrFhb9gQpPNa_M7RI4dG2cj/view เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวสามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการผลิต และสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. กับผลิตภัณฑ์นั้นได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตผ่านระบบe-license ของ สมอ. ที่ www.tisi.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย