กรุงเทพฯ 27 ม.ค.- ธ.ก.ส. ขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ร้อยละ 0.125 – 0.25 ต่อปี ตามมติ กนง. ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 1.50 สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว มีผล 1 ก.พ. 66
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจาก กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงครั้งล่าสุด 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมารวมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 4 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.50 มาอยู่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในปัจจุบัน ตามการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจไทย ธ.ก.ส. ในฐานะแบงก์รัฐ ได้ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้เอาไว้นานที่สุด เพื่อลดภาระให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร
ธ.ก.ส. ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยในตลาด โดยปรับขึ้นร้อยละ 0.125 – 0.25 ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.125 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 6.50 เป็นร้อยละ 6.625 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากปัจจุบัน ร้อยละ 4.875 เป็นร้อยละ 5.125 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 6.25 เป็น ร้อยละ 6.50 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ธ.ก.ส. ยังมีโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น มาตรการจ่ายดอกตัดต้น มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย และมาตรการทางด่วนลดหนี้ เป็นต้น เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งในและนอกระบบ ควบคู่กับการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน อันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ใกล้บ้านท่านทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call Center 02 555 0555 .-สำนักข่าวไทย