กรุงเทพฯ 26 ม.ค.- ธปท. สมาคมธนาคารไทย หนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัว เสริมศักยภาพ SMEs รองรับ 3 เมกะเทรนด์ธุรกิจโลกยุคใหม่ วงเงินกู้ไม่เกิน 150 ล้านบาท/ราย คิดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ไม่เกิน ร้อยละ 2 ต่อปี
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนออกมาตรการ“สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ต่อยอดจากสินเชื่อฟื้นฟู ภายใต้ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับการลงทุนปรับปรุง พัฒนาและเสริมศักยภาพธุรกิจให้สอดรับกับ New Normal ใน 3 รูปแบบ คือ 1.กระแสเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) 2.การดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) 3.นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) เป็นเมกะเทรนด์ธุรกิจของโลก โดยมาตรการ “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” เป็นทางเลือกดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในช่วง เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ธปท. ได้ปรับหลักเกณฑ์ขยายวงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ขณะที่เงื่อนไขการค้ำประกันยืดหยุ่นขึ้น เพื่อเข้าถึงสินเชื่อและส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ไทย
สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวอย่างเต็มกำลัง ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการปรับตัวแล้ว สนใจติดต่อสถาบันการเงินโดยตรง สามารถดูรายชื่อสถาบันการเงินและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. ได้ที่ มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ (bot.or.th)
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาคมธนาคารไทย ได้ประสานความร่วมมือกับธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ได้ถึง 7.7 หมื่นราย วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ให้ความช่วยเหลือ 5.9 หมื่นราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อกว่า 2.1 แสนล้านบาท มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ให้ความช่วยเหลือ 413 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนราว 5.8 หมื่นล้านบาท มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้ได้ตรงจุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย