กรุงเทพฯ 10 ม.ค.- ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย คาดส่งออกไทยปี 65 ขยายตัวสูงถึง 6.5-7.5% แต่ในปี 66 ยังอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1% โตต่ำสุดในรอบ 3 ปี
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ “ส่งออกไทยปี 2566 โตแค่ไหน ในยุคเศรษฐกิจโลกถดถอย” ซึ่งไทยยังเจอปัจจัยเสี่ยงถึง 7 เรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากที่ IMF คาดการณ์ว่าจะโตเพียง 2.7% กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าในตลาดหลักของไทย ทั้งยุโรป สหรัฐ และจีน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะเกิดขึ้นครบรอบ 1 ปีแน่นอน โดยคาดว่าจะกระทบส่งออกไทยให้หดตัว 1.7% รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จะเข้มข้นขึ้น กระทบต่อทั้งห่วงโซ่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ราคาน้ำมันยังทรงตังสูง เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ราคาวัตถุดิบและสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสูงสุดถึง 5.25% ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2007 และปัจจัยสุดท้าย คือ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมที่จะขาดแคลนมากขึ้น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม จึงคาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 66 จะเฉลี่ยที่ 290,819-296,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวในกรอบติดลบ 0.5-1.5% หรือเฉลี่ยโตเพียง 1% เติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งมีประเด็นที่ต้องติดตาม จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่น่าจะยังอ่อนตัวมากกว่าปี 2565 เฉลี่ยที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเทรนด์ผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จะเป็นข้อจำกัดในการส่งออก และที่สำคัญคือ ผลกระทบจากการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของจีน ที่จะมีผลต่อกำลังซื้อ ซึ่งหากบริหารจัดการดี ทั้งนักท่องเที่ยวจีน และการดูแลโควิดในไทย ไม่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ มีโอกาสที่ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ถึง 1.5% แต่หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ส่งออกอาจจะติดลบ 0.5%
เช่นเดียวกับปัจจัยการเมือง ที่ต้องรอผลการเลือกตั้งในปีนี้ เพราะส่งผลกับนโยบายเศรษฐกิจการค้าชัดเจนว่าจะเดินหน้างานเดิม หรือพรรคการเมืองใหม่ได้จัดตั้งรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสิน โดยเฉพาะกับการลงทุนในประเทศ.-สำนักข่าวไทย