กรุงเทพฯ 5 ม.ค.-รมว.พลังงาน มีแผนช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน และเตรียมออกหลักเกณฑ์ชัดเจนส่งเสริมไฟฟ้าสีเขียว ด้านแถลงการณ์ 100 พลเมืองไทย เรียกร้องรัฐบาลยุติการให้เอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กำลังพิจารณามาตรการที่จะช่วยเหลือครัวเรือนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังจากค่าไฟฟ้าที่แท้จริงต้นทุนสูงขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่าราคาพลังงานที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น 3-4 เท่าตัว ซึ่งสถานการณ์ราคาไฟฟ้าน่าจะคลี่คลายภายในสิ้นปีนี้
ส่วนเรื่องสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนนั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญส่วนปัญหากำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่สูงเกิน 30% นั้น มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมามีความต้องการใช้ลดลง แต่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้มีปริมาณกำลังผลิตส่วนเกินลดลง และจำเป็นต้องมีกำลังการผลิตสำรองไว้ โดยในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจะพลังงานสะอาดเข้าไปทดแทนการปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงเดิม
สำหรับการปลดล็อกข้อกำหนดต่างๆให้มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน ทางรัฐบาลสนับสนุนและในอนาคตจะมีกองทุนสนับสนุนให้ชุมชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดใช้ได้เอง 1 หมื่นเมกะวัตต์ เช่นการผลิตไฟฟ้าจากมูลสัตว์ โรงไฟฟ้าชุมชน
ทั้งนี้ รมว.พลังงาน ตอบกระทู้ถามทั่วไปของนายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่อง ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงและกรณีเรียกเก็บค่าบริการครัวเรือนละ 38.22 บาท/เดือน ซึ่งเป็นค่ารักษามิเตอร์ ค่าพิมพ์ใบเสร็จ ซึ่งหากรวมทั้งประเทศจะเป็นเงินราว 1,900 ล้านบาท/เดือนนั้น โดยนายสุพัฒนพงษ์ ได้ชี้แจงว่า ค่าบริการรายเดือนดังกล่าวมาจากการคำนวณของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการบำรุงรักษา และ กกพ.ยืนยันว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม
กกพ.เดินหน้ากำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) รองรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์เข้าระบบ เตรียมออกหลักเกณฑ์ฯ ม.ค.นี้ ก่อนประกาศอัตราฯ เม.ย.นี้ หนุนเพิ่มขีดแข่งผู้ส่งออก ป้องถูกตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้า
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กกพ.เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ที่เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าสีเขียวขนาดใหญ่(Utility Scale) เพื่อตอบสนองให้กับบริษัทที่ดำเนินกิจการการค้ากับต่างประเทศและต้องการยกเว้นภาษี จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas : GHG) ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero GHG)ในปี 2065
เบื้องต้น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ไปแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า(ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไปซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก
(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน(เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้ จะถูกแบ่งกลุ่ม ตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน ,โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือ ลม เป็นต้น สำหรับกระบวนการออกประกาศอัตรา Utility Green Tariff: UGT นั้น คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566
ด้านแถลงการณ์ 100 พลเมืองไทย ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ซึ่งมีหลายภาคส่วนร่วมด้วย เช่น นาย กมล กมลตระกูลกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค , พท.พญ. กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ
,กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,นายการุณ ใสงาม อดีตสมาชิกวุฒิสภา
เรียกร้องรัฐบาลยุติการให้เอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐ ให้เหตุผล เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 ระบุว่า “รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องที่ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2559 – 2563) พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่าเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 45
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ละเมิดต่อหลักการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเกิดความขัดแย้งในสังคมไทย กลุ่มปัญญาชนและพลเมืองไทย จำนวน 100 คน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยุติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย การให้ใบอนุญาตเอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของประเทศ และเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับเอกชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะและประชาชนต่อไป .-สำนักข่าวไทย