กรุงเทพฯ 5 ม.ค.- ปลัด ทส. ระบุให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกรณีอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชา ดำเนินการอย่างละเอียด ซึ่งจะสอบผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงที่มาของเงินที่พบในห้องทำงาน ด้านประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเผย อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือตอบกรรมการ โดยปฏิเสธเรื่องที่ถูกกล่าวหา
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกรณีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชถูกตำรวจบก.ปปป. และเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. จับกุมฐานเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อแลกกับการแต่งตั้งโยกย้าย โดยขั้นตอนการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเป็นขั้นตอนหลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สอบสวนเบื้องต้นแล้วพบว่า มีมูลการกระทำผิดทางวินัยของข้าราชการ
ทั้งนี้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงจะสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนสอบสวนที่มาของเงินซึ่งพบในห้องทำงานของอธิบดีกรมอุทยานฯ ด้วย หากคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนว่า กระทำผิดจริง จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ผิดคือผิด โดยตามระเบียบข้าราชการพลเรือน หลังการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ต้องมีกระบวนการพิจารณาโทษต่อไป ซึ่งโทษสูงสุดกรณีทุจริตคือ ให้ออกจากราชการ
ส่วนข้อเสนอของนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ให้คืนความธรรมแก่ข้าราชการของกรมอุทยานฯ ที่ถูกนายรัชฎาโยกย้ายโดยมิชอบนั้น ปลัดกระทรวงทส. กล่าวว่า จะตรวจสอบ โดยพิจารณาว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายหรือไม่ แต่จะปรักปรำว่า ทุกตำแหน่งที่อธิบดีออกคำสั่งแต่งตั้งนั้น ไม่เหมาะสมทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทส. กำชับว่า การแต่งตั้งต้องเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทส. และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกล่าวว่า ในการสอบสวนของคณะกรรมการนั้น ได้ตรวจสอบ 3 ส่วนคือ อธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกร้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรซึ่งเป็นผู้ร้อง และข้อมูลจากตำรวจบก.ปปป. และป.ป.ช. โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรตอบกรรมการ แต่การปฏิเสธของผู้ถูกร้อง ไม่ได้หมายถึง ไม่มีความผิด การพบเงินจำนวนมากในห้องทำงานเป็นเรื่องไม่ปกติ ประกอบกับข้อมูลประกอบอื่นๆ จึงสรุปว่า มีมูลการกระทำผิดทางวินัย จึงเสนอผลสอบต่อปลัดกระทรวงฯ ซึ่งปลัดกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง
สำหรับขั้นตอนการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ไม่ได้กำหนดระยะเวลา เนื่องจากต้องสอบสวนอย่างรอบคอบ กรณีที่มีหลักฐานชัดเจน คณะกรรมการสามารถสรุปผลได้เร็ว แต่ถ้ามีรายละเอียดและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
หากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยสรุปว่า มีความผิด ปลัดกระทรวงฯ มีอำนาจในการพิจารณาโทษ โดยผู้ถูกร้องสามารถอุทธรณ์ได้ใน 90 วัน.-สำนักข่าวไทย