กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – นักเศรษฐศาสตร์แนะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ยอมรับพรรคการเมืองเสนอนโยบายละเมิดกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หวั่นกระทบการเงินการคลังสั่นคลอน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันซื้อขายตำแหน่งและการโกงเงินงบประมาณ อย่างเช่น กรณีกรมอุทยานฯ กรณีตู่ห้าว กรณีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าและการเอื้อเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนสะท้อนปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ฝังรากลึกในสังคม ระบบราชการ และระบบการเมือง
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้คนจน คนชั้นกลาง ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าคนชั้นสูง หรือผู้มีฐานะร่ำรวย หรือข้าราชการระดับสูง จึงเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและการกระจายรายได้รุนแรงขึ้น ยอมรับว่า ไทยใช้งบประมาณขาดดุลมา 17 ปีแล้ว และยังมีปัญหาหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ร้อยละ 60 จึงต้องหาทาง ทำให้งบประมาณขาดดุลน้อยลง ยอมรับว่า บทบาทของพรรคการเมือง เสนอนโยบายของพรรคการเมืองไม่หลุดไปจากวังวนของนโยบายเชิงอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยม มักละเมิดต่อกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี และทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศสั่นคลอนได้ในอนาคต แนวนโยบายมักเน้นการอุดหนุนเรื่องปัญหาปากท้อง และการให้สวัสดิการแบบอุปถัมภ์ เมื่อใกล้เวลาการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องรักษาคะแนนนิยม ทำให้ต้นทุนทางการคลังเพิ่ม
นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ควรเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถสร้างและขยายฐานคะแนนเสียง เมื่อพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม จะยกระดับเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่มีความยั่งยืนมากกว่าเดิม และทำให้ความเป็น “ธนาธิปไตย” ของการเมืองไทย หรือ Money Politics ลดลงได้
สำหรับการแก้ไขหรือลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วยหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณะนั้น ต้องกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น ชุมชนให้มากที่สุด และทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ใช้เงินน้อยลง ใช้ความรู้ความสามารถ ใช้นโยบายมากขึ้น ทำให้การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการใช้ระบบคุณธรรม
การผ่อนคลายกฎระเบียบและยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นอันอาศัยการใช้อำนาจดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ลดขั้นตอนต่างๆ ในระบบราชการในการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ระบบราชการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเป็น Open Government และทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ โดยต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดภาษีศุลกากร ทำให้สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ควรปฏิรูประบบการประเมินผลของระบบราชการ โดยเฉพาะระบบประเมินของ ก.พ., ก.พ.ร., สคร. ยอมรับกรณีอย่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้คะแนนป้องกันทุจริตเต็ม 100 และได้ผลประเมินดัชนีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment – ITA) ระดับ A ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี แต่กลับมีปัญหาทุจริตซื้อขายตำแหน่ง ผู้นำทางการเมือง ผู้บริหารในระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับหน่วยงาน ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในด้านความซื่อตรงและโปร่งใส. – สำนักข่าวไทย