กรุงเทพฯ 7 พ.ค.- นักเศรษฐศาสตร์ มธ.. เชื่อ รัฐบาล -แบงก์ชาติ เห็นแก่ประโยชน์ประเทศ เสนอร่วมแถลงข่าว-จัดทำโร้ดแม้ปทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ชี้ธนาคารทั่วโลกลดดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป
ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงประเด็นการลดดอกเบี้ยนโยบาย ที่รัฐบาลอยากให้แบงค์ชาติลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นต่าง เรื่องนี้มองว่าส่วนหนึ่งที่กลายเป็นกระแส มาจากการประกาศผลประกอบการของธนาคารที่มีกำไรสูง จึงมีการมองว่าน่าจะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระของประชาชนได้ รวมถึงข้อกังวลที่ว่าหากดอกเบี้ยสูงเกินไปนโยบายต่างๆจะไม่เกิดผล
ทั้งนี้ มองว่าแม้แบงก์ชาติจะมีการลดดอกเบี้ยจริงก็จะไม่สามารถลดดอกเบี้ยแบบหวือหวาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญได้ เนื่องจากหลักการลดดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากลดเร็วเกินไปจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ความเชื่อมั่นนักลงทุน และเงินตราที่ไหลเข้า-ออกประเทศซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ซึ่งธนาคารกลางแต่ละประเทศ ทั่วโลกก็จะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัว นอกจากนี้แบงก์ชาติยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัตราดอกเบี้ยและมองอีกว่าการคงดอกเบี้ยเป็นผลดีต่อรัฐบาล เนื่องจากหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยแม้จะช่วยครัวเรือนได้บ้างแต่ไม่มาก แม้จะกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศแต่ไม่ใช่กำลังซื้อที่เกิดจากเงินในกระเป๋า แต่เป็นกำลังซื้อที่เกิดจากการกู้ยืมส่งผลให้หนี้ครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้น จะยิ่งทำให้บริหารจัดการยากและส่งผลต่อนโยบายอื่นๆของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แม้ลดดอกเบี้ยแล้วกำลังซื้อฟื้นคืนมาจริงๆ สินค้าต่างก็จะแพงขึ้น ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น และยิ่งตอนนี้ไทยกำลังเจอภัยแล้งจะเป็นปัจจัยเสริมให้ของยิ่งแพงขึ้น นอกจากนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ข้าวของต่างๆก็จะแพงขึ้นตามมา หากเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะเจอทั้งดอกเบี้ยลด ภัยแล้ง และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นการคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย รัฐบาลจะได้มุ่งแก้ปัญหาเรื่องการส่งออก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่จะมีผลต่อการส่งออก
ส่วนกรณีที่มีการมองว่าการลดภาระดอกเบี้ยจะช่วยลดหนี้ครัวเรือน มองว่าไม่ได้มีส่วนช่วยลดในทันที เช่นหากมีหนี้ 100 บาท ต้องผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยจาก 2% เป็น 1% เท่ากับว่าเสียดอกเบี้ยจาก 2 บาท ลดลงเป็น 1 บาท ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก และหากเป็นหนี้ระยะยาวดอกเบี้ยจะคงที่และลอยตัวตามตลาด ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจะทำให้ภาระหนี้ที่ลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนจะช่วยได้มากกว่า
”เชื่อว่า ทั้งสองฝั่งหวังดีกับประเทศรัฐบาลก็อยากช่วยเหลือประชาชน แบงค์ชาติก็อยากให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่เมื่อมีการพูดกันคนละครั้งอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ถ้าหากมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกัน แสดงทิศทางไปข้างหน้าพร้อมกัน ออกมาเป็นโร้ดแมป ที่รัฐบาลและแบงค์ชาติจะทำงานไปร่วมกัน ก็จะกลายเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้ประชาชนอุ่นใจ คนกล้าใช้เงินกำลังซื้อเพิ่มเศรษฐกิจจริง ภาระหนี้ครัวเรือนลดลง มองว่าเศรษฐกิจไทยได้เต็มที่ 18 เดือน หากไม่ฟื้นหลังจากนี้เชื่อว่าจะตามประเทศอื่นๆไม่ทัน“ ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
สำหรับประเด็นการปลดผู้ว่าฯ ธปท. ตามกฎหมายสากลต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องเกิดจากการดำเนินการที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศหรือสถาบันการเงินอย่างร้ายแรง ยิ่งกว่านั้น หากมีการปลดผู้ว่าฯ ธปท.แห่งชาติ ที่ไม่ใช่การดำเนินการโดยรัฐบาลหรือมีกลุ่มหรือบุคคลรับลูกไปทำต่อรัฐบาลก็จะโดนมองว่าเป็นแพะอยู่ดี
ทั้งนี้ มีผู้ว่าฯ ธปท.ได้รับเลือกมาโดยการแต่งตั้ง ซึ่งตามหลักกฏหมายมหาชน ผู้ที่ได้รับเลือกถือฉันทามติของประชาชน ว่าจะให้เป็นไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้นแบงค์ชาติจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนกำลังเสริมให้กับรัฐบาล โดยใช้นโยบายการเงินเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่นิ่งพอ ทำใหัรัฐบาลสามารถใช้นโยบายอื่นๆ เพื่อพัฒนาประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาที่ต้องการได้.-516-สำนักข่าวไทย