สุพรรณบุรี 13 ธ.ค. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงดูแล “น้องธันวา” ลูกช้างป่าหลงโขลงอย่างใกล้ชิด หลังนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากป่า มาอนุบาลที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก แม้ตรวจเลือดไม่พบเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ แต่ยังมีภาวะน้ำตาลตก ถ่ายเหลว และอ่อนแรงซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติ ทีมสัตวแพทย์ปรับแผนการรักษาและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
นายนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) (สบอ. 3) กล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์ของสบอ. 3 และกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ายังคงดูแล “น้องธันวา” ลูกช้างป่าเพศเมียที่พลัดหลงโขลงในป่าอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายลูกช้างออกมาจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ต. เขาโจด อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. แล้วนำมาอนุบาลที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ. สุพรรณบุรี
ช่วงเช้าวันที่ 11 ธ.ค. ลูกช้างป่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำ ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงลุกนั่ง ยืน และเดิน ประกอบกับถ่ายเหลว สัตวแพทย์ได้สารน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเด็กโตรสและน้ำตาลกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำ รวมถึงเจาะเลือดส่งตรวจไวรัสในลูกช้างทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ต่อมาระดับน้ำตาลในเลือดปรับเพิ่มขึ้นเป็นบางช่วง แต่โดยรวมยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ล่าสุดทีมสัตวแพทย์รายงานว่า “น้องธันวา” ยังมีอาการอ่อนเพลีย ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง และไม่มีแรง เจ้าหน้าที่ต้องพยุงตัวช่วยให้ลุกนั่งและยืน ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำและใต้ผิวหนัง ปรับเปลี่ยนสูตรการให้นมเนื่องจากเห็นว่า มีปัญหาระบบทางเดินอาหารเกี่ยวกับการดูดซึมของนมจึงตัดมื้อนมให้ลง แล้วให้น้ำต้มข้าวทดแทน เพื่อลดการถ่ายเหลวซึ่งทำให้สัตว์สูญเสียอิเล็กโทรไลต์ มีผลอย่างมากต่อร่างกาย โดยกำลังรอดูผลการปรับเปลี่ยน
นอกจากนี้ยังให้ยาฆ่าเชื้อแบบกินและให้วิตามินแบบกิน ให้ยาลดกรดในระบบทางเดินอาหารโดยเข้าทางหลอดเลือดดำ ลูกช้างป่ามีอาการหอบหายใจในบางครั้งจึงให้ออกซิเจนทุกครั้งที่มีการหอบหายใจ ตรวจเช็คระดับกลูโคสในกระแสเลือดทุก 3 ชั่วโมง ส่วนผลการตรวจเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างชนิด EEHV ไม่พบเชื้อ
ทั้งนี้อาการยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ ทีมสัตวแพทย์จะปรึกษาถึงอาการและแนวทางการดูแลรักษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ มูลนิธิพระคชบาล และโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา โดยระหว่างนี้ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์จะดูแลลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย