ทำเนียบ 1 ธ.ค.-นายกฯ ยินดีกระทรวงแรงงาน ได้โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีใต้เพิ่มใน 3 กลุ่มแรงงาน เป็น 15,000 คน มั่นใจเป็นโอกาสเพิ่มงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงผลการหารือระหว่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับ นาย มุน ซึง ฮย็อน (Mr. Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ซึ่งทำให้ไทยได้โควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีเพิ่ม ถือเป็นโอกาสยกระดับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ทำให้คนไทยมีงานทำ นำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ตลาดแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากแรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนมาก เดินทางไปทำงาน ซึ่งจากข้อมูลในเดือน กรกฎาคม ปี 2565 มีจำนวนแรงงานไทยสะสม อยู่ในเกาหลี เป็นจำนวนถึง 12,950 คน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานรายงานว่า ได้ขอเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2566 ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก วีซ่าทำงานประเภท E-9 (แรงงานทั่วไป) ที่จัดส่งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ขอเพิ่มโควตาจากเดิมที่เคยจัดส่งไปปีละ 2,500 คน เป็น 5,000 คน กลุ่มที่ 2 วีซ่าทำงานประเภท E-7 (แรงงานประเภททักษะ/แรงงานฝีมือ) ไปทำงานสาขาช่างเชื่อม ช่างทาสี ในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 5,000 คน และกลุ่มที่ 3 วีซ่าทำงานประเภท E-8 (แรงงานเกษตรตามฤดูกาล) จำนวน 5,000 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,000 คน จากเดิม 2,500 คน
ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์การจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี ในประเด็นความร่วมมือด้านแรงงาน จึงได้หยิบยกประเด็นการขอเพิ่มโควตาแรงงาน และการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย
“นายกรัฐมนตรีได้วางแนวทางในการทำงานให้กับคณะรัฐมนตรี โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ ดูแล ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นอันดับต้น โดยรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับและดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มโควตาแรงงานไทยในประเทศเกาหลีจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้ของแรงงานไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง และของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้หยุดการทำงานแต่เพียงเท่านี้ ยังพิจารณาหาช่องทางอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย” นายอนุชา กล่าว.สำนักข่าวไทย