กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – ธปท. ชี้แม้บาทวันนี้ผันผวน แต่เคลื่อนไหวตามสกุลเงินภูมิภาค แนะเอกชนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสม่ำเสมอ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวแข็งค่าของเงินภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น จากการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ว่าอาจผ่อนคลายความเข้มงวดลงได้บ้าง โดยเฉพาะหลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอลงมากกว่าคาด รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid-19 จากทางการจีน ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่าลงกว่า 3% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
ขณะที่เงินบาทปรับแข็งค่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินภูมิภาค โดยปรับแข็งค่าขึ้นจากสิ้นเดือนตุลาคม ประมาณ 5% โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในหลักทรัพย์ไทยประมาณ 1.07 แสนล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร ประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ย. 2565)
ทั้งนี้ ความผันผวนในตลาดการเงินยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงในระยะถัดไป ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับเงินบาทวันนี้ผันผวน ปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 36.02 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง จากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 36.11 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันลงไปแตะ 35.70 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่าค่อนข้างเร็ว หลักๆ มาจากต่างชาติลดสถานะถือดอลลาร์ ทำให้มีการขายดอลลาร์ออกมาจากพอร์ตค่อนข้างมาก หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน ส่งผลให้การคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่จุดสูงสุดเปลี่ยนไป โดยนักลงทุนมองว่าจุดสูงสุดธนาคารกลางสหรัฐอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่ถึงระดับ 5% เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ต่างชาติเทขายสกุลเงินดอลลาร์
สำหรับสัปดาห์หน้า คาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าอีก โดยจะมีการเปิดประมูลบอนด์ระยะสั้นต่ำกว่า 1 ปี ของ ธปท. ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อาจเป็นช่องให้ต่างชาติเข้ามาพักเงินระยะสั้นๆ ได้ คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 35.5-36.20 บาทต่อดอลลาร์ได้
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า ในระยะต่อไปคาดว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงมาก แม้เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 66 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้น ขณะที่การปรับดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มสูงสุดที่ 4.75% ในช่วงกลางปี 66 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นไปที่ระดับ 2.00%
ttb analytics ระบุว่า จากการที่ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี 65 อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยอยู่ที่ 38.31 บาท/ดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงกว่า 14% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมาก จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
นับตั้งแต่ต้นปี 65 ที่ผ่านมา เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วถึง 3.00% และคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 50 Basis Points (BPS) อีก 1 ครั้ง ในการประชุมเดือน ธ.ค. ของปีนี้
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียง 25 BPS ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 30 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว หนุนดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในปีหน้า ทำให้ ณ สิ้นปี 66 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ.-สำนักข่าวไทย