รัฐสภา 9 พ.ย.- “สุพัฒนพงษ์” แจงเหตุเสนอ พ.ร.ก.ค้ำประกันการชำระหนี้กองทุนน้ำมัน วิกฤติซ้ำซ้อนช่วงโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำกองทุนน้ำมันติดลบ ด้าน”จิรายุ” ฟาดน้ำมันแพงอย่าโทษสงคราม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (9 พ.ย.) ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่ระเบียบวาระเรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน คือพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้เสนอ ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์ น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายประการ
“ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุน เพื่อเข้าช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของประชาชน จนปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงอุดหนุนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากนัก โดยควบคุมราคาน้ำมันไว้ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร หากไม่อุดหนุนจะอยู่ที่ 38-39 บาทต่อลิตร และควบคุมราคาแก๊สหุงต้มไม่เกิน 400 บาท หากไม่อุดหนุนก็จะอยู่ที่ 592 บาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดวิฤติซ้อนวิกฤติ และปัจจุบันสถานการณ์โลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้สถานการณ์ติดลบไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กองทุนน้ำมันยังต้องรักษาเสถียรภาพ ในระดับราคาที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินที่จะอนุมัติเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมัน เพื่อเสริมสภาพคล่องและให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว ขณะที่แผนชำระหนี้นั้น ทางกองทุนน้ำมันก็ได้วางแนวทางไว้แล้ว
จากนั้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจะไปค้ำประกันโดยใช้เงินของกระทรวงการคลัง เป็นเงินของประเทศ เป็นเงินของประชาชน ต้องถามกระทรวงพลังงานเองว่า บริหารผิดพลาดหรือไม่ ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.ฉบับนี้ พร้อมตั้งคำถามว่า ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดว่าจะไปเจรจาลดค่าโรงกลั่นนั้น ได้ไปเจรจาหรือยัง และลดค่าการตลาดหรือยังตลอดจนนโยบายการใช้พลังงานแก๊ส NGV และ LPG นั้นได้ทำหรือยัง
“ค่าน้ำมันแพง ค่าไฟแพง ไม่เกี่ยวกับสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ถ้าบริหารอย่างชาญฉลาด จะต้องมีการวางแผน แต่กลับบริหารไม่มีประสิทธิภาพแล้วไปโทษสงครามที่เกิดขึ้น” นายจิรายุ.-สำนักข่าวไทย