ภูมิภาค 12 ต.ค. – “พล.อ.ประวิตร” ลุยเยี่ยมชาวอุบลฯ-ศรีสะเกษ ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ย้ำรัฐบาลไม่ทิ้งประชาชน ส่วนที่ จ.นครปฐม เจอน้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอ และมีบางส่วนเอ่อท่วมถนน รวมถึงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ถนนบรมราชชนนี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย จ.อุบลราชธานี โดยรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณวัดหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จากนั้นเดินทางต่อไปยัง จ.ศรีสะเกษ รับฟังสรุปสถานการณ์น้ำ และพบประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่บ้านหนองบัวไชยวาน ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหน่วยงานหลักในการประสานแผนบริหารจัดการน้ำของกรรมการลุ่มน้ำ แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด และการประกาศพื้นที่ประสบภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมมอบหมายกรมชลประทานดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 และขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยทหาร สนับสนุนเครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่อย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอให้เตรียมแผนการช่วยเหลือฟื้นฟู ภายหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไปด้วย
จากการติดตามสถานการณ์ฝนภาคอีสานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่าช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 65 ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง แต่ช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม อาจมีฝนตกหนักบางแห่งส่งผลต่อระดับน้ำเล็กน้อย และช่วงวันที่ 16-19 ตุลาคม ฝนจะลดลงไปอย่างมาก ถึงอาจไม่มีฝนตกในพื้นที่ภาคอีสานเลย
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี ระดับน้ำเริ่มลดลงแต่ต้องเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำ เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ยังคงการระบายอยู่ที่ 54 ล้าน ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำโดยรอบ ซึ่งได้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณรอบให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว
ขณะที่ลุ่มน้ำมูลระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้า เมื่อระดับน้ำลุ่มน้ำมูลลดลง อยู่ในเกณฑ์ปกติ กอนช. จะประสานการนำเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชี คาดว่าช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำในพื้นที่ภาคอีสานจะเริ่มลดลง และที่เอ่อท่วมสองฝั่งลำน้ำจะทยอยไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำหลัก เพื่อเร่งระบายลงแม่น้ำโขงให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ควบคู่การพื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว
จมทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านร้องขอทางเดินสะพานไม้
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเทพประทาน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เกือบ 400 หลังคาเรือน เผชิญน้ำท่วมขังสูงมานานกว่า 2 สัปดาห์ ไร้หน่วยงานเข้ามาดูแล ร้องสื่อมวลชนอยากให้มีการสร้างสะพานทางเดินชั่วคราวให้เดินทางเข้าออกภายในหมู่บ้าน
เมื่อคืนที่ผ่านมาทีมข่าวจึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าที่ทางเข้าหมู่บ้านมีรถจักรยานยนต์ของชาวบ้านจอดเรียงรายอยู่หลายคัน ส่วนรถยนต์นำไปจอดไว้บนถนน จากการตรวจสอบพบบริเวณซอย 1-4 ที่อยู่หน้าหมู่บ้านไม่ถูกน้ำท่วมขัง แต่ซอย 6-30 มีน้ำท่วมขัง ซึ่งแต่ละซอยระดับความสูง-ต่ำไม่เท่ากัน บางซอยสูงกว่า 1 เมตร
ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมขังอยู่ในสภาพนี้มาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน แต่รถสามารถวิ่งได้ จนเมื่อต้นเดือนตุลาคม น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นและไม่ลดลงเลย ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำเข้าออกไปทำงาน หรือทำธุระนอกบ้านทุกวัน จึงอยากขอร้องหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ช่วยเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน จากการสอบถามต้องการให้มีการสร้างสะพานทางเดินชั่วคราว เพื่อสะดวกในการเดินทาง
ถนนช่วงสะพานพระราม 4 มุ่งหน้า 345 ระดับน้ำลดลง
ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบช่วงบริเวณสะพานพระราม 4 ขาออกมุ่งหน้าถนนรัตนาธิเบศร์ และถนน 345 บางบัวทอง พบว่าระดับน้ำซึ่งเคยท่วมถึง 2 เลน วันนี้แดดออก ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ระดับน้ำที่เคยท่วมลดลงไปมากแล้ว สำหรับบนถนนใหญ่ทั้งขาเข้าและขาออก มีเพียงช่องเลนซ้ายสุดที่ระดับน้ำยังท่วมขังบ้างเล็กน้อย รถทุกคันที่วิ่งผ่านต้องเบี่ยงออกเลนกลางและเลนขวา
สำหรับจุดกลับรถใต้สะพานพระราม 4 ช่วงหน้าวัดบางจาก ระดับน้ำยังท่วมสูง รถจักรยานยนต์และรถเล็กควรเลี่ยงเส้นทาง โดยระดับน้ำจะลงในช่วงเช้าและขึ้นสูงมากในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 16.00 น. ไปถึงกลางดึก แล้วจะลดลงอีกครั้งช่วงเวลาเช้า
เทศบาลเมืองสุพรรณฯ เร่งสูบน้ำกันเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ
สถานการณ์น้ำในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนอยู่ที่ 6.13 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 3 ซม. สูงกว่าถนนพระพันวษา 53 ซม. แนวโน้มทรงตัว เพราะเขื่อนกระเสียวระบายน้ำที่เกินความจุเขื่อนลดลงเหลือ 69 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำผ่านประตูน้ำโพธิ์พระยา 267 ลบ.ม./วินาที แต่ยังมีน้ำสะสมในพื้นที่
เทศบาลเมืองสุพรรณบุรียังคงเร่งสูบน้ำออกจากท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำจากเขื่อนล้นเข้าพื้นที่ตลาดสด ร้านค้า ในตลาด ทรัพย์สิน พื้นที่เศรษฐกิจ และบริเวณถนน บางจุดต้องนำกระสอบทราบมาทำทางเดิน เพราะน้ำล้นออกมา บางจุดต้องมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เร่งสูบน้ำออก และยังคงเฝ้าระวังแนวคันกั้นน้ำที่ป้องกันน้ำท่วมให้มั่นคง และเสริมแนวคันให้สูงขึ้นในบางจุด
ปภ.แจ้งเฝ้าระวัง อาจจะมีน้ำเพิ่มขึ้น 30 ซม.
ส่วนที่ จ.นครปฐม นายนพดล คำนึงเนตร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า จ.นครปฐม มีพื้นที่ประสบภัย 7 อำเภอ 72 ตำบล 456 หมู่บ้าน 10,731 ครัวเรือน ความเสียหายเบื้องต้น นาข้าว พืชสวน รวมกว่า 2,770 ไร่ บ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา 81 บ่อ สถานที่ราชการโรงเรียนวัด 28 แห่ง
สาเหตุสำคัญคือน้ำที่ระบายมาจากด้านบน น้ำจากฝนที่ตกสะสมช่วงที่ผ่านมา และน้ำทะเลหนุน ข้อมูลการระบายน้ำของกรมชลประทาน จากประตูโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี 267.40 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูป่าพฤกษ์ ประตูบางใหญ่ ประตูบางแม่หม้าย ประตูบ้านกุ่ม ประตูบางสะแก ประตูเกาทะลาย ประตูบางหัวบ้าน ประตูสองพี่น้อง เข้านครปฐม เพิ่มเป็น 460.72 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะมารวมกับน้ำเดิมที่มีอยู่ น้ำฝนสะสมอาจทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 15-30 ซม. ขณะนี้ จ.นครปฐม ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณใต้สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน 60 ตัว เพื่อเร่งผลักดันน้ำออกทะเลที่ จ.สมุทรสาคร
ส่วนเมื่อวานนี้ที่มีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมถนนบรมราชชนนี ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ทั้งขาเข้าและขาออก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดยาวตลอดทั้งวัน เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นผิวการจราจรบนถนนสายหลัก เพื่อให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ตามปกติ วันนี้ยังมีน้ำเอ่อล้นเข้ามาบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนน ยกเว้นทางกลับรถใต้สะพาน มีน้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซม. รถเล็กไม่สามารผ่านได้ .-สำนักข่าวไทย