กรุงเทพฯ 15 ก.ย.-ประธานที่ปรึกษฯ หอการค้าไทย ฟันธงเศรษฐกิจโลกถดถอยจากสงคราม 2 ประเทศ ทำโลกเจอปัญหาพลังงานสูงดันเงินเฟ้อทั้งโลกพุ่งตาม กระทบต้นทุนผลิตและครองชีพ แต่มองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำสูงและน้ำท่วมไม่กระทบต่อเศรษกิจไทยมากนัก
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า “การประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565” จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้เจอปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อสูง หลายประเทศออกมาตรการด้านปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงไทยด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตามในหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆได้ และจากการสำรวจภาคธุรกิจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในช่วงวันที่ 6-12 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บริการ ภาคการเกษตรทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ยังคงมองว่า เศรฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก แต่สิ่งที่ทุกภาคอุตสาหกรรมกังวลได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงและต้นทุนค่าครองชีพสูงจากปัจจัยในด้านพลังงานที่สูง จึงอยากให้รัฐบาลหาหนทางสกัดกันเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากจนเกินไป โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ เห็นว่าการที่รัฐบาลใช้นโยบายดูแลด้านพลังงานด้วยการใช้มาตรการด้านภาษีและชดเชยนั้น เห็นว่าเป็นมาตรการทีดีเพื่อลดความร้อนแรงด้านต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าครองชีพและเป็นมาตรการเหมาะสมต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นต้นทุนต่อการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดแรงงานให้น้อยลง โดยกว่า ร้อยละ 80 เห็นว่า จะไม่มีการปรับลดคนงานออกจากงาน หลังค่าแรงขั้นต่ำขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนน้ำท่วมในประเทศหลายพื้นที่โดยคาดว่ากระทบด้านความเสียหายประมาณ 5,000 ล้านบาทถือว่ากระทบต่อจีดีพีของประเทศน้อยมาก โดยทางศูนย์ฯมองว่า ไม่มีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรแม้จะได้รับผลกระทบ แต่โดยรวมไม่ได้รับความเสียหายมากจนเกินไป โดยพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะน้ำท่วมและเร่งระบายน้ำออกเป็นส่วนมาก โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะมาจากทำให้การเดินทางไปมาลำบากในบางพื้นที่ แต่จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้เกิดการท่องเที่ยว โดยมีเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 200,000 ล้านบาทจะทำให้รายได้ของประเทศและประชาชนจะดีขึ้น ประกอบกับการเบาบางการแพร่เชื้อโควิดเริ่มน้อยลง จึงเป็นปัจจัยหนุนต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัวและถือเป็นช่วงเศรษฐกิจช่วงขาขึ้นมากกว่า ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นบวกได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 และจากคาดการณ์เดิมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3-3.5 แต่จากภาพรวมการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกของไทยยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ทางศูนย์ฯจะขอประเมินอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 65 อีกครั้งในเดือน พ.ย.65 นี้.-สำนักข่าวไทย