กรุงเทพฯ 19 เม.ย.-ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมีส่วนให้เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2/2567 ด้านไทยพาณิชย์คาดเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ 1-3% ตั้งแต่ไตรมาส 3
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ปี 2563 ภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ในประเทศอย่างต่อเนื่อง และปี 2565 ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาก จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ของภาครัฐส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยต่ำกว่าการไม่มีมาตรการ หากภาครัฐไม่มีการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศจากระดับปัจจุบัน อาจส่งผลให้ภาระต้นทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย มีแนวโน้มกลับไปแตะที่ระดับสูงสุดเหมือนในปี 2565 อีกครั้ง โดยจากแนวทางที่ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศลง และปล่อยให้ราคาสะท้อนต้นทุนจริงมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 67 เป็นต้นไป และคาดว่าจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ในปี 2567
ทั้งนี้ ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และงวดเดือนต่อไป (เดือนพ.ค.-ส.ค.67) ก็มีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิมเช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้มก็ยังตรึงอยู่ที่ 423บาท/ถังขนาด 15 กก. ไปจนถึงเดือนมิ.ย.67 ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 50สตางค์/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.67 ที่30.44 บาท/ลิตร และจะขยับขึ้นอีก 50 สตางค์ตั้งแต่ 20 เม.ย.
ซึ่งผลจากการอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อ งทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนฯ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)มีภาระต้นทุนพลังงานและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น หากภาครัฐไม่มีการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศจากระดับปัจจุบัน อาจส่งผลให้ภาระต้นทุนของกองทุนฯ และ กฟผ. มีแนวโน้มกลับไปแตะที่ระดับสูงสุดเหมือนในปี 2565 อีกครั้ง หากราคาดีเซลและก๊าซ LPG ยังคงได้รับการอุดหนุนเท่ากับในระดับปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในไตรมาส 2/2567 กองทุนฯ อาจต้องเผชิญกับสถานะติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงปี 2565 ที่สูงสุดในประวัติการณ์ (ภายใต้สมมติฐานว่าราคาพลังงานโลกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน)
– ในขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)หากมีการอุดหนุนในระดับใกล้เคียงกับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในสิ้นปี 2567 ภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงปี 2565 ที่มีภาระต้นทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทอีกครั้ง ในขณะที่ภาระต้นทุนการดำเนินการจากการอุดหนุนพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงประกอบกับหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจจะเป็นจังหวะเวลาที่ภาครัฐจะทบทวนทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลง โดยอาจพิจารณาสนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่ามี ความจำเป็น อาทิ กลุ่มเปราะบางเพื่อที่ภาครัฐจะได้ฟื้นฟูฐานะทางการเงินสำหรับใช้รับมือในกรณีที่หากเกิดวิกฤตในอนาคต (buffer)
ขณะเดียวกันภาครัฐอาจมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของภาคเอกชนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนพลังงานได้อย่างยั่งยืน
จากแนวทางที่ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศลงและปล่อยให้ราคาค่อยๆ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จึงส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากเผชิญการติดลบมานาน 6 เดือน ทั้งนี้ ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยคาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่0.8%
ด้าน ศูนย์วิจัย SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ผ่านมาติดลบต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญจากราคาพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยค่าครองชีพภาครัฐ รวมถึงราคาอาหารสดลดลง อย่างไรก็ดี ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกกลับมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่กำลังจะหมดลง SCB EIC จึงประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. และกลับเข้ากรอบ 1-3% ตั้งแต่ไตรมาส 3 /67 และคาดว่าจะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้
เนื่องจาก 1) เป็นการรักษาสถานะความเป็นกลางของนโยบายการเงิน (Neutral stance) จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) ลดต่ำลงจากเดิม และ 2) มติ กนง. ล่าสุดยังออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่อง และกรรมการเสียงส่วนน้อยให้เหตุผลเพิ่มเติมในการเสนอลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าจะสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็ว เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ยังคง Hawkish กว่าธนาคารกลางอื่น ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ในไตรมาส 2 เงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า จากดัชนีเงินดอลลาร์จะยังแข็งค่าตาม Fed ที่มีแนวโน้มจะเริ่มลดดอกเบี้ยช้าลง และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทยในฤดูกาลจ่ายเงินปันผล มองกรอบเงินบาทอยู่ที่ 35.80 – 36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสิ้นปีนี้ เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในกรอบ 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ -511 – สำนักข่าวไทย