ทำเนียบฯ 13 ก.ย.-ปลัดคลัง เผยรายได้ภาษีปี 65 เกินเป้าหมาย 7 หมื่นล้านบาท เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ยอมรับลดภาษีดีเซลหลายรอบ เสียรายได้เข้าคลัง หวังช่วยลดต้นทุนพลังงานกับประชาชน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการขยายเวลามาตรการลดภาษีดีเซลลดลง 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลาอีก 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 65 ถึงเดือนพฤศจิกายน 65 เพื่อต้องการลดภาระต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน ถึงแม้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่ยังมีรายได้ภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษี ประกอบด้วยกรมสรรพกร กรมศุลกร กรมสรรพสามิต รวมกันทั้งหมด คาดว่าในสิ้นปีงบประมาณ 65 ยอดภาษีเกินเป้าหมาย 7 หมื่นล้านบาท นับเป็นการจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมายตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด-19
ปัจจัยหลักทำให้ยอดรายได้ภาษี ปรับเพิ่มขึ้นมาจาก รายได้จากการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวชาติทยอยเดินทางเข้ามาใช้จ่ายในประเทศเพิ่มจากเดิมคาดว่าจะเข้ามา 5-6 ล้านคน แต่ขณะนี้คาดว่าจะเพิ่มนับ 10 ล้านคน การบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากการเติมกำลังซื้อ บัตรวสวัสดิการฯ “คนละครึ่ง” ที่สำคัญคือการลงทุนภาครัฐ เมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจดีขึ้น จึงคาดว่า เป้าหมายการจัดเก็บราย ได้ภาษีในปี66 วงเงิน 2.49 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเกินเป้าหมายเล็กน้อย
ดังนั้น เมื่อเห็นว่าประชาชนยังเดือดร้อนจากต้นทุนพลังงานสูงขึ้น จากราคาน้ำมันยังผวนผวน จึงต้องลดภาษีดีเชลในช่วงสั้นๆ2 เดือน โดยกระทรวงพลังงานต้องบริหารจัดการทั้งเรื่องก๊าซหุงต้ม (LPG) และน้ำมัน ถึงแม้ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันลดลงบ้าง แต่ราคา LPG ในรอบนี้ยังมีราคาสูง ยอมรับว่า รัฐบาลช่วยเหลือชดเชยราคาพลังงานทำให้รายได้เข้าคลังหายไป 6 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลัง เสนอ ครม. ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งแรก วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 20 พฤษภาคม 65 ลดภาษีดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 3 เดือน สูญเสียรายได้เข้าคลัง 18,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ระหว่าง 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 65 เป็นเวลา 3 เดือน ลดภาษีดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร สูญเสียรายได้เข้าคลัง 30,000 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม – 20 กันยายน 65 ระยะเวลา 2 เดือน ลดภาษีดีเซลอัตราเดิม 5 บาทต่อลิตร สูญเสียรายได้เข้าคลัง 20,000 ล้านบาท ยอดรวมทั้ง 3 ครั้ง สูญเสียรายได้ 68,000 ล้านบาท และครั้งล่าสุดต้องลดภาษีอีก 2 เดือน ทั้งนี้เพื่อลดภาระต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน.-สำนักข่าวไทย