กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – แพทย์เผย “อาการชักหัวเราะ” ไม่ใช่โรคประหลาดหรือโรคใหม่ เคยพบมานานแล้ว แต่พบผู้ป่วยค่อนข้างน้อย โรคลมชักชนิดนี้ส่วนมากพบในเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิด รักษาหายยาก แต่สามารถหายได้
กรณีคุณแม่ผู้ใช้บัญชี TikTok @poyautchara แชร์คลิปวิดีโอลูกชายหัวเราะไม่หยุด หัวเราะบ่อยครั้งแบบไม่มีสาเหตุ หลงคิดว่าอารมณ์ดี สุดท้ายพบเป็นอาการชักเกร็ง เนื่องจากมี “เนื้องอกในสมอง” ต้องเข้ารักษาด้วยการผ่าตัดทันที
พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา บอกว่า อาการชักหัวเราะ หรือ Gelastic seizure เกิดจาก Hypothalamic Hamartoma หรือที่เรียกกันว่า “เนื้องอกหัวเราะ” ไม่ใช่โรคประหลาดหรือโรคใหม่ เป็นโรคที่เคยพบมานานแล้ว แต่พบผู้ป่วยค่อนข้างน้อย Hypothalamic Hamartoma อาจยังไม่ใช่เนื้องอก แต่เป็นเซลล์ปกติในตำแหน่งตรงจุดกลางสมองที่สร้างขึ้นมามากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคนี้ 90% จะมีอาการชักแบบหัวเราะ และอาจมีอาการชักแบบอื่นร่วมด้วย เช่น กระตุกทั้งตัว เหม่อลอย ไม่รู้ตัว ฉะนั้นถ้าเจอเด็กชักและมีอาการหัวเราะด้วย ควรนึกถึงโรคนี้ด้วยเสมอ
โรคลมชักชนิดนี้ส่วนมากจะพบในเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ผู้ปกครองอาจไม่ได้สังเกต เห็นว่าหัวเราะแต่ไม่รู้ว่ามันคืออาการชัก กระทั่งคนไข้มีอาการชักอย่างอื่นให้เห็นด้วยถึงจะพาไปพบแพทย์ และตรวจเจอว่าป่วยเป็นโรคนี้ อีกทั้งยังมีโรคร่วมที่มักจะเจอในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือความผิดปกติของฮอร์โมน เพราะตำแหน่งไฮโพทาลามัสเป็นตำแหน่งฮอร์โมนในสมอง ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมาด้วยอาการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยอันควร และเมื่อไปตรวจอาจจะพบมีฮอร์โมนอย่างอื่นที่ผิดปกติไปด้วย
ความน่ากังวลของ “เนื้องอกหัวเราะ” เป็นโรคลมชักที่รักษาได้ยากมาก ใช้ยากันชักมากกว่า 2 ชนิดก็ไม่หาย จึงต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งมีความยากเช่นกัน เพราะต้องผ่าตัดเซลล์ที่ผิดปกติตรงกลางสมองที่อยู่ในตำแหน่งลึก สมัยก่อนจึงต้องส่งต่อไปผ่าตัดในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แต่ในยุคนี้การแพทย์ทันสมัยมากขึ้น ในประเทศไทยสามารถทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้แล้ว
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลภาพรวมว่าในไทยมีการผ่าตัดให้ผู้ป่วยเนื้องอกหัวเราะไปแล้วกี่ราย แต่เฉพาะที่สถาบันประสาทวิทยา มีการผ่าตัดไปให้เด็กไปแล้ว 5-6 เคส ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแล้ว ยังสามารถใช้วิธีฉายแสงให้เซลล์ที่ผิดปกติฝ่อลง และในต่างประเทศมีการใช้เลเซอร์ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีราคาแพงในไทย ยังไม่มีใครรักษาด้วยวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัด
ส่วนจะกลับมาหายเป็นปกติได้เร็วขนาดไหน ขึ้นอยู่กับขนาดของเซลล์ที่ผิดปกติด้วย เคสที่ไม่ได้ใหญ่มากหลังผ่าตัดครั้งเดียวก็หายเป็นปกติ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ บางคนต้องผ่าตัดมากกว่าหนึ่งครั้งถึงจะหยุดชัก
พร้อมแนะนำผู้ปกครอง หากเด็กมีอาการชักให้รีบพาไปพบแพทย์ สังเกตได้ด้วยวิธีง่ายๆ หากเด็กมีอาการชักแบบหัวเราะ หัวเราะแบบผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคลมชักรักษายาก ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ควรต้องตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาความผิดปกติในสมอง และหากมีอาการชักแบบหัวเราะด้วย ต้องทำ MRI โฟกัสไปที่ไฮโพทาลามัสด้วย
ถ้าเจอว่าป่วย “เนื้องอกหัวเราะ” ต้องรีบรักษา ผู้ป่วยจะได้หยุดชัก แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่หากปล่อยให้เด็กชักไปนานๆ จะทำให้สมองในส่วนอื่นของเด็กเสียหายไปด้วย และถ้าคุมอาการชักไม่ดีต้องให้ยาคุมชักสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงกับเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการ ถ้าเจอเร็ว รักษาเร็ว เด็กก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็วขึ้น และขอให้ตระหนักว่าโรคลมชักมีหลายรูปแบบ ฉะนั้นอะไรที่ผู้ปกครองสงสัยว่าไม่ปกติสำหรับพัฒนาการทั่วไปของเด็ก ให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง จะทำให้ตรวจพบได้เร็วขึ้น เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสม
สรุปโรคเนื้องอกหัวเราะ จะมีอาการชักแบบหัวเราะ จะมีอาการหัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพักๆ การหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือมีความสุข และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่นๆ ได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว พบได้ตั้งแต่กำเนิดในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี
อาการชักแบบหัวเราะมักจะเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ลักษณะคล้ายเนื้องอก เรียกว่า hypothalamic harmatoma อุบัติการณ์ของอาการชักแบบหัวเราะที่เกิดจาก Hypothalamic harmatoma จากการศึกษาในต่างประเทศ พบประมาณ 1 ต่อ 2 แสนในประชากรอายุน้อยกว่า 20 ปี
ส่วนการสังเกตอาการเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษา สิ่งสำคัญคือ การสังเกตเด็กจากบุคคลใกล้ชิด หรือการถ่ายวิดีโออาการดังกล่าวเมื่อมาปรึกษาแพทย์ จะช่วยในการวินิจฉัยได้ง่าย
ส่วนการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญคือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อแยกอาการชักหรือไม่ใช่อาการชัก และการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาความผิดปกติของเนื้อสมอง
ในเด็กที่มี hypothalamic harmatoma อาจพบภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย หรือความผิดปกติของฮอร์โมนอื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากความผิดปกติของสมองส่วน hypothalamus จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ดังนั้น การรักษาโรคนี้ จึงต้องติดตามภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติร่วมด้วยเสมอ.-สำนักข่าวไทย