กรุงเทพฯ 5 ก.ย.-“ศักดิ์สยาม” เดินหน้า โอนย้าย 3 สนามบิน”อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่”ไปอยู่กับ AOT ลั่น!ภายในต้นปี 2566. ทอท.ได้เข้าไปบริหารสนามบินแบบเบ็ดเสร็จ ด้าน AOT มั่นใจเสริมศักยภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยานของประเทศ เพิ่มฮับอีสานเหนือ -ใต้ ส่วน ทย. หารือกระทรวงคลังเรื่องเงินสนับสนุนเข้ากองทุนกรมท่าอากาศยานเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย พ.ร.บ.การเงินการคลัง มั่นใจ ทย.ไม่เสียประโยชน์ เงินเข้ากองทุนฯ ยังเหมือนเดิม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังจากที่ ครม. พิจาณาอนุมัติ แนวทางการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล และ บริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ว่า ตามขั้นตอนไทม์ไลน์หลังจากที่ AOT และทย.ส่งความเห็นเพิ่มเติมตาม ที่กระทรวงคลังถามความเห็นมา มาศึกษาเพิ่มเติมให้รอบรอบก่อนเสนอรายงานกลับไปที่ ครม. อีกครั้งเพื่อทราบ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ทาง ทย. และ AOT ได้มีการดำเนินการร่วมกันโดย. ทย. ได้คืนพื้นที่ 3 สนามบินกลับไปที่กรมธนารักษ์ และ AOT ดำเนินการในเรื่องการขอเข้าไปใช้พื้นที่ทั้ง 3 สนามบินมาบริหารจัดการเองแทน ทย. จากกรมธนารักษ์ และการจ่ายค่าบำรุงเข้ากองทุนอากาศยานให้กับ ทย. คาดว่า ภายในต้นปี 2566 AOT จะได้เข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 สนามบินได้แบบเบ็ดเสร็จ
ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายว่าจากนี้ไปการบริหารจัดการสนามบินที่ให้บริการไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศที่ไปเริ่มต้นทางที่สนามบินภูมิภาคได้เท่านั้น เส้นทางบินในประเทศก็สามารถดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมาเริ่มการบริการที่สนามบินส่วนกลาง คือ สนามบินดอนเมือง หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถทำการบินเริ่มบริการจากสนามบินภูมิภาคได้เลย เช่น จากสนามบินโคราช- หัวหิน หรือ สนามบินโคราช-ภูเก็ต เป็นต้น เพื่อเป็นการกระจายความหนาแน่นของปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน เนื่องจากในปัจจุบันแต่ละภูมิภาคก็มีสนามบินหลักเช่น ทางภาคเหนือ ก็มีสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย ทางภาคใต้ก็มีสนามบินหาดใหญ่ ส่วนภาคตะวันออก มีสนามบินอู่ตะเภา
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เผยว่า การรับมอบโอนท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่งคือ สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ มาอยู่ในความรับผิชอบ ทอท. นั้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยการที่จะเป็น ฮับได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาทั้งในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รูปแบบการก่อสร้างและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ตลอดจนถึงแผนการตลาดของผู้บริหารท่าอากาศยาน ควบคู่กันไปโดยองค์รวมและในปัจจุบัน ทอท.มีท่าอากาศยานที่เป็น ฮับอยู่แล้ว ได้แก่ ฮับทางภาคเหนือคือ สนามบินเชียงใหม่ ฮับ ทางใต้คือสนามบินภูเก็ต รวมถึง ฮับ ภาคกลางคือ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งท่าอากาศยานต่างๆ ดังกล่าวนอกจากจะมีความแออัดบนภาคพื้นแล้ว ยังมีความแออัดบนห้วงอากาศที่ยากต่อการบริหารจัดการไม่แพ้กันด้วย
ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารห้วงอากาศทางภาคอีสานที่ยังว่าง AOT จึงเห็นความเหมาะสมในการเข้าไปพัฒนาท่าอากาศยานในภาคอีสานให้เป็น ฮับของประเทศเพิ่มเติมโดยรับโอนสนามบินอุดรธานี และ สนามบินบุรีรัมย์มาอยู่กับ AOT โดยทางอีสานเหนือคือ สนามบินอุดรธานี จะผลักดันให้เป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนอีสานใต้คือ สนามบินบุรีรัมย์ จะผลักดันให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น ฮับตามนโยบายที่จะยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของรัฐบาล
ในขณะที่ สนามบินกระบี่ ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น ฮับทางภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ที่ สนามบินภูเก็ตจะกลับมารองรับผู้โดยสารเกินศักยภาพอีกครั้งหลังหมดวิกฤตโควิดในเวลาอันสั้น โดยในการยกระดับท่าอากาศยานทั้ง 3 เป็น ฮับนั้นในส่วนของ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น AOT หรือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริหาร ก็จะอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ต้องถูกตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะเดียวกันทาง ทย.ก็จะไม่เสียประโยชน์จากการโอน 3 สนามบินมายัง AOT เนื่องจาก AOT จะยังคงพิจารณาสนับสนุนเงินอุดหนุนให้ ทย.เช่นเดิมผ่านกองทุน ทย.เช่นเดิม ซึ่งจะเป็นรายได้ให้ ทย.นำไปพัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ ต่อไป
ด้านนายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) กล่าวว่า เรื่องการโอนย้าย 3สนามบิน ทาง ทย. พร้อมดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม นอกจากนั้นในเรื่องของการที่ AOT จะเข้ามาสนับสนุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนกรมท่าอากาศยาน ภายหลังจากที่มีการรับโอนย้าย 3 สนามบิน จากความรับผิดชอบ ทย. ไปยังAOT นั้น ขณะนี้ ทย. ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเรื่องของเงินที่ AOT จะสนับสนุน ทย.เข้ากองทุนฯเนื่องจากการสนับสนุนดังกล่าวต้องดูระเบียบข้อกฎหมายให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ด้วย ซึ่งมีวิธีการที่จะนำเงินที่ได้มาให้ ทย.ไปใช้ให้ถูกตามวัตถุประสงค์.-สำนักข่าวไทย