ภูมิภาค 2 ก.ย. – กรมอุตุฯ เตือนจับตาฝนตกหนัก 46 จังหวัด ทั่วไทย 4-7 ก.ย.นี้ ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา เตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม./วินาที น้ำท้ายเขื่อนจะสูงขึ้น 40-50 ซม. เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวัง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศอีก 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 1 – 3 ก.ย.65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน ภาคเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่เกิดขึ้นไว้ด้วย ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
เขื่อนเจ้าพระยาอาจระบายน้ำ 1,800 – 2,000 ลบ.ม./วินาที
ไปดูสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา เมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) นายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลา 11.00 น. วานนี้ (1 ก.ย.) เขื่อนเจ้าพระยา จะเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ในอัตรา 1,800 ลูกบาศก์เมตรวินาที และจะยังคงระบายในอัตรานี้ต่อไปจนถึงวันที่ 4 กันยายน จากนั้นจึงจะพิจารณาปรับเพิ่มตามสถานการณ์
ขณะที่ กรมชลประทาน มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 65 ไปยังผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่ภาคเหนือ ลงมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณอยู่ระหว่าง 1,800-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct19 มีปริมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแม่น้ำลำสาขา มีปริมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณระหว่าง 2,100-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนนี้ ในอัตรา 1,800-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 40-50 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 5-6 กันยายน 2565 หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ชาวบ้านริมเจ้าพระยายิ้มสู้น้ำ แม้ท่วมถึงอก
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงเพิ่มขึ้นสูงไปอีก โดยระดับน้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้นสงผลกระทบให้แม่น้ำน้อยที่ไหลผ่านอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สูงขึ้น โดยผู้สื่อข่าวลงสำรวจในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา พบว่าบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ถูกน้ำท่วมจนจะถึงพื้นบ้าน ชาวบ้านจะไม่มีที่อาศัยแล้ว แต่ในความเดือดร้อน ชาวบ้านยังคงยิ้มสู้ และปรับตัวรับสถานการณ์น้ำได้ แม้ระดับน้ำจะท่วมถึงอก พร้อมเผยว่า รู้สึกชินแล้ว เพราะเจอน้ำท่วมทุกปี ทนอยู่กับน้ำมาเป็นเดือนแล้ว น้ำท่วมจนจะมิดบ้าน แต่ก็ยังต้องอยู่ให้ได้ หลายคนอยู่อาศัยบ้านชั้น 2 และจะลงมาเก็บของขึ้นทุกเช้า เพราะน้ำขึ้นทุกเช้า นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่สามารถไปไหนได้ ต้องเตรียมหาเตียงหนุนสูงๆ เพื่อหนีน้ำ เนื่องจากคาดว่า อีก 2-3 วัน น้ำจะท่วมสูงขึ้นกว่านี้
ทั้งนี้ น้ำท่วมชุมชนริมน้ำ ตั้งอยู่เขตชลประทาน แล้ว 9 อำเภอ 87 ตำบล 398 หมู่บ้าน และมีบ้านเรือนประชาชน ได้รับผลกระทบแล้ว 12,520 ครัวเรือน .-สำนักข่าวไทย