สำนักข่าวไทย 21 ส.ค. – อดีตตุลาการศาล รธน. ชี้กระบวนการพิจารณาหลังส่งคำร้องปมนายกฯ 8 ปี ถึงศาล รธน. ต้องใช้เวลา ระบุการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอวินิจฉัย จะต้องเป็นเหตุผลที่หนักแน่นจริงๆ
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทย ถึงกระบวนการหลังประธานสภาฯ ส่งคำร้องตีความวาระนายกฯ 8 ปี ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบความเรียบร้อยเบื้องต้น โดยใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก่อนทำเรื่องเสนอให้ศาลพิจารณาสั่งรับคำร้องขอ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาข้ามวัน เพราะศาลอาจจะมอบหมายให้องค์คณะ 1 คน หรือ 2 คน หรือ 3 คนทำ สมมติว่า ศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว โดยหลักก็จะต้องดูว่า ไปกระทบผลได้ผลเสียของใครบ้างหรือไม่ หากกระทบก็ควรให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสคัดค้านโต้แย้งตามหลักการ ฟังความให้ครบทุกฝ่าย ไม่ฟังความด้านเดียว อย่างเรื่องนี้ก็มีคนที่ถูกกระทบสิทธิจากผลของคำร้องนี้ ก็ควรจะให้มีการส่งสำเนาและให้โอกาสการโต้แย้งคัดค้านจากผู้ที่เดือดร้อนก่อน ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องดังกล่าวเร่งด่วนแค่ไหน เมื่อได้คำคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ศาลก็อาจจะฟังความเห็นของคนที่เกี่ยวพันกับหลักกฎหมายข้อนี้ เป็นไปได้ที่ศาลอาจจะขอฟังความเห็นจาก กกต. หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรืออาจจะขอบันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จากเลขาธิการรัฐสภา รวมทั้งเอกสารบันทึกการประชุมที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ซึ่งถ้าศาลขอเช่นนั้น ก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะคนที่จะทำความเห็นส่งมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องให้เวลาเขา
นายจรัญ กล่าวต่อว่า จากนั้นจะดูว่า ต้องไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานเอกสารหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นเหมือนกับความเห็นส่วนใหญ่ว่า ไม่น่าจะจำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล เพราะถ้าไต่สวนพยานบุคคลก็จะยาว ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ความเห็นและได้เอกสารมาแล้ว ศาลจะประชุมหารือโต้เถียงออกความคิดเห็นกันอย่างน้อยที่สุด 1-2 ครั้ง ตนคิดว่า 2 ครั้ง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาห่างกันอย่างน้อยครั้งละ 1 สัปดาห์ และหลังจากความคิดเห็นตกผลึก ก็จะนัดประชุมเพื่อลงมติ ก็จะต้องเลือกเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นข้อยุติผูกพันทุกองค์กร เข้าใจว่าต้องเร็ว แต่ก็ต้องแม่น จึงต้องใช้เวลาตัดสินใจให้ดี
ทั้งนี้ เมื่อออกคำวินิจฉัยก็จะรู้ผลในวันนั้นเลย ข่าวก็จะออกได้เลย แต่คำวินิจฉัยเป็นทางการก็จะส่งไปที่ประธานรัฐสภาในภายหลัง ดังนั้น ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ผู้ร้องจึงได้ขอว่า เมื่อรับคำร้องแล้วขอให้สั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน ซึ่งกฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งอย่างนั้นได้ แต่ก็เป็นแนวทางปฏิบัติกันว่า ศาลไม่สั่งง่ายๆ เรื่องแบบนี้ และต้องมีเหตุผลอันหนักแน่นจริงๆ ถึงจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน โดยเฉพาะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ก็มีความเห็นอีกด้านหนึ่งว่า หากให้ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วเกิดไม่มีผลทางกฎหมาย ประเทศจะเดือดร้อนเสียหายหรือไม่ เรื่องนี้จึงยาก และตนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปให้ความเห็นอะไรที่เกี่ยวข้องได้. – สำนักข่าวไทย