กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบการจัดกิจกรรมปล่อยปลาฉลามและปลาการ์ตูนในพื้นที่กองทัพเรือที่สัตหีบ พบปลาการ์ตูนที่ปล่อย ไม่ใช่ปลาประจำถิ่นอ่าวไทย รวมทั้งมีปลานำเข้าด้วยจึงสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศได้ โฆษกกองทัพเรือยอมรับเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติ โดยหน่วยต้นสังกัดได้มีการสั่งห้ามจัดกิจกรรมนี้มานานแล้ว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงกรณีที่เกิดกระแสดราม่าว่า มีอินฟลูเอนเซอร์ไปร่วมกิจกรรมปล่อยปลาฉลามกับหน่วยนาวิกโยธินในพื้นที่ของกองทัพเรือที่สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีการปล่อยปลาฉลามและปลาการ์ตูนที่อาจเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์
กรมทช. ตรวจสอบพบว่า ปลาฉลามกบที่ปล่อยสามารถได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจึงมิใช่เอเลี่ยนสปีชีส์ แต่ปลาการ์ตูนที่ปล่อยไม่ใช่ปลาประจำถิ่นของอ่าวไทย โดยในประเทศไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด ในอ่าวไทยพบเพียง 3 ชนิดได้แก่ ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนลายปล้อง และปลาการ์ตูนอานม้า แต่ภาพจากกิจกรรมปล่อยปลาเป็นปลาการ์ตูนส้มขาวและปลาการ์ตูนอินเดียน นอกจากนี้ยังมีปลาการ์ตูนมะเขือเทศที่เป็นสายพันธุ์นำเข้าและไม่พบในประเทศไทย ดังนั้นการปล่อยเช่นนี้ นอกจากจะไม่ช่วยในการอนุรักษ์แล้ว ยังจะทำให้ระบบนิเวศน์ทางทะเลเสียหายได้
สำหรับปลาการ์ตูนในธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับซีแอนนีโมนในบริเวณที่เป็นแนวปะการัง การปล่อยปลาการ์ตูนจากชายฝั่งทำให้โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก และการปล่อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีโอกาสที่จะไปรุกรานแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ทำให้เกิดการสูญพันธุ์หรือแทนที่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ได้ นอกจากนี้ปลาการ์ตูนมีการปรับตัวตามถิ่นที่อยู่อาศัย การนำสายพันธุ์ภายนอกอาจเป็นทำให้เกิดลูกผสมที่อ่อนแอทำให้ประชากรเดิมลดลงได้
พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยถึงกรณีที่สื่อโซเชียลแชร์กิจกรรมปล่อยฉลามและพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พร้อมตำหนิถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากสัตว์ทะเลบางชนิดไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล โดยยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งพลเรือโท รณรงค์ สิทธินันท์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้มีสั่งการตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 ห้ามมิให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากคำนึงถึงสภาพแวดล้อม รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในท้องทะเล แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินยอมรับว่า เป็นข้อบกพร่องของหน่วยที่ไม่กำกับดูแลจนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น พร้อมทั้งขอโทษพี่น้องประชาชนมา ณ ที่นี้ด้วย
ทั้งนี้ กองทัพเรือ นอกจากจะมีภารกิจหน้าที่ ในการรักษาความมั่นคงของประเทศและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แล้ว อีกภารกิจที่กองทัพเรือ ให้ความสำคัญคือการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการไปยังหน่วยขึ้นตรงของกองทัพเรือให้เน้นย้ำกำลังพลและหน่วยในสังกัดให้มีความระมัดระวังในการจัดกิจกรรมต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยกองทัพเรือมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลตลอดจนรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้มีความสมบูรณ์และนำไปสู่ความสมดุลทางธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย