กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) จัดการสัมมนาสำหรับผู้สื่อข่าวไทย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ รวมทั้งสร้างความเข้าใจเชิงลึกว่าด้วยความร่วมมือระดับทวิภาคีทุกภาคส่วนระหว่าง 2 ประเทศ
นายไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนา “นโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้จัดโครงการร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลและจุดมุ่งหมายที่สำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรสนธิสัญญาที่เก่าแก่และยาวนานที่สุดของสหรัฐในเอเชีย ทั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ถือเป็นสถานทูตใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในโลกของสหรัฐ รองจากกรุงแบกแดดในอิรัก โดยมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของสหรัฐจำนวนมากประจำการปฏิบัติภารกิจภารกิจในประเทศไทย ตอกย้ำให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นครอบคลุมภาคีทุกส่วนของไทย
ด้านนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นโครงการแรกที่สมาคมฯ จัดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมโรคโควิด-19 โดยเชื่อมั่นว่าจากการสัมมนาครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวไทยจะได้มุมมองเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานทูตสหรัฐฯ อย่างถูกต้องและครอบคลุมมากขึ้น
นอกจากนี้ ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ยังได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่ามี 8 ประเด็นที่สำคัญที่น่าจับตามอง คือ
- สหรัฐจะกลับมาทวงคืนความเป็นหนึ่งอีกครั้ง (America must lead again)
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน นำพาสหรัฐกลับสู่เวทีโลกอีกครั้ง (Multilateralism) เช่น องค์การการค้าโลก, การร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน
- การใช้ soft power ด้วยนโยบายการทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy)
- การถ่วงดุลอำนาจและสร้างระเบียบใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (US Indo-Pacific strategies)
- การถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน เป็นนโยบายของสหรัฐที่จะลดบทบาทลงเพื่อผลประโยชน์และลดความสูญเสียด้านงบประมาณ
- ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ยืดเยื้อมานาน แต่ปัจจุบันความขัดแย้งนั้นพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ในเชิงการแข่งขัน (Competitive Relationship)
- ทะเลจีนใต้ มีทรัพยากร และมีเส้นทางเดินเรือที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่สหรัฐมองว่า จีนควรปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากล
- เมียนมา สหรัฐพยายามที่จะยุติปัญหาที่เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารของกองทัพเมียนมาด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่จะไม่กระทบต่อพลเรือน
ในการสัมมนาที่มีขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ผู้สื่อข่าวไทยจำนวน 20 คน จะได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการการทำงานของสถานทูตสหรัฐฯเพื่อสานต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่อย่างเสรี ทันโลก มีเกราะป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน เพื่อเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย.-สำนักข่าวไทย