สเปน 23 พ.ย. – ชาวประมงพื้นเมืองในสเปนยังใช้วิธีการตกปลาทูน่าแบบโบราณ หวังมุ่งสืบทอดเทคนิคดั้งเดิมให้คงอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูน่า
ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายนของทุกปี เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดของชาวประมงสเปนในหมู่บ้านแถบเมืองคาดิซ ทางตอนใต้ของประเทศ เพราะเป็นฤดูกาลที่ปลาทูน่าจะอพยพจากมหาสมุทรแอตแลนติกมายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงนับเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม แทนที่จะใช้วิธีการตกปลาสมัยใหม่ที่นิยมทำกันในหลายประเทศ ชาวประมงในแถบนี้ยังคงเลือกใช้วิธีการตกปลาที่เรียกว่า “อัลมาดราบา” (almadraba) ซึ่งเป็นเทคนิคจับปลาทูน่าที่สืบทอดมาจากชาวฟีนีเซียนเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล วิธีการนี้ชาวประมงจะกางแหซึ่งมีลักษณะคล้ายเขาวงกตไว้ใต้พื้นทะเลบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ เมื่อปลาว่ายเข้าไปในแหก็จะติดอยู่ภายในทันที หลังจากชาวประมงจะดึงแหเพื่อนำปลาขึ้นมา เมื่อปลาขึ้นมาอยู่ระดับผิวน้ำแล้ว ชาวประมงจะกระโดดลงไปในทะเลเพื่อเลือกปลาตัวใหญ่ที่สุดแล้วใช้ตะขอเกี่ยวขึ้นมาบนเรือ
ฮวน ดิเอโก เบนิเตซ ชาวประมงในหมู่บ้านบาร์บาเต ใช้วิธีอัลมาดราบาตกปลาทูน่ามา 18 ปี กล่าวว่า เทคนิคตกปลาทูน่าดั้งเดิมนี้ค่อนข้างอันตรายพอสมควร ดังนั้นเพื่อให้วิธีการนี้ยังคงอยู่ ปัจจุบันจึงประยุกต์นำเครื่องมือทันสมัยมาใช้ เช่น ใช้เครนดึงแหแทนการใช้กำลังแขน และใช้ฉมวกยิงแทนการใช้ตะขอ นอกจากเพื่อสืบทอดเทคนิคตกปลาแบบโบราณให้คงอยู่ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านประมงยังพบว่า อัลมาดราบาเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูน่าให้คงคู่ท้องทะเลอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความต้องการบริโภคปลาทูน่าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่ซื้อปลาที่จับได้ระหว่างร้อยละ 60-70 เพราะเทคนิคนี้ชาวประมงจะคัดเลือกเฉพาะทูน่าตัวใหญ่ที่มีขนาดกำลังพอเหมาะเท่านั้น. – สำนักข่าวไทย