อาเซอร์ไบจานจัดงานใหญ่…สิ่งท้าทายใหม่ที่สำนักข่าวทั่วโลกต้องรับมือ

อาเซอร์ไบจาน 23 พ.ย.- อาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ของสำนักข่าวจากทั่วโลก ผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักข่าวจาก 80 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสำนักข่าวไทย อสมท เข้าร่วม เป็นอีกวาระหนึ่งที่อาเซอร์ไบจานได้แสดงบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ขณะที่สำนักข่าวต่างๆ ได้ร่วมกันหาแนวทางรับมือกับการทำหน้าที่สื่อในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ติดตามจากรายงานพิเศษจากกองบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย


23

ได้ยินชื่อมานาน เพิ่งมีโอกาสเดินทางไปอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อร่วม 2 การประชุมนัดสำคัญ คือ 1. การประชุมใหญ่สำนักข่าวโลก ครั้งที่ 5 (5th News Agencies World Congress) ระหว่าง 16-17 พ.ย.2559 และ 2.การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16 ขององค์การสำนักข่าวแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (โออานา) – the 16th General Assembly of the Organization of Asia-Pacific News Agencies (OANA) ในวันที่ 18 พ.ย. 2559 ต่อเนื่องกัน รวม 3 วันเต็ม


การประชุมทั้งสองนัด สำนักข่าวแห่งชาติอาเซอร์ไบจาน คือ AZERTAC ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมูลนิธิ Heydar Aliyev เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงบากู (Baku) เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ในโอกาสนี้ สำนักข่าวไทย (Thai News Agency : TNA) ซึ่งมีสถานะเป็น news agency และเป็นสมาชิก OANA ได้รับเชิญจากเจ้าภาพให้เข้าร่วมทั้งสองการประชุม เช่นเดียวกับสำนักข่าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 3 แห่งที่ส่งผู้บริหารและผู้แทนเข้าร่วมคือ สำนักข่าว ANTARA ของอินโดนีเซีย สำนักข่าว BERNAMA ของมาเลเซีย และสำนักข่าว VNA ของเวียดนาม

15

“New Challenges for News Agencies’ (สิ่งท้าทายใหม่สำหรับสำนักข่าว) เป็นสโลแกนของการการประชุมใหญ่สำนักข่าวโลกครั้งที่ 5 และเป็นโจทย์สำหรับผู้นำสำนักข่าวกว่า 100 แห่ง เกือบ 200 คน 80 ประเทศ จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้แลกเปลี่ยนและหาทางรับมือร่วมกัน


สถานที่จัดประชุมโออ่า ทันสมัย แต่การประชุมเปิดฉากอย่างเรียบง่าย ตรงเวลาแทบไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่มีพิธีรีตอง ไม่มีพิธีกรออกมาสวัสดีแนะนำตัวหรือ เชิญใครกล่าวรายงานให้เสียเวลา ได้ยินเพียงเสียงประกาศดังๆ จากหลังฉากสั้นๆ ห้วนๆ แต่หนักแน่นสะกดผู้ฟังให้เงียบได้อย่างฉับพลันว่า.. Ladies and Gentlemen, the President of the Democratic Republic of Azerbaijan ..จากนั้นประธานก็ปรากฏตัว แล้วเดินตรงสู่โพเดียมโล้นๆ หน้าเวทีที่ไม่มีดอกไม้ประดับหรือวางให้บังหน้า

22

ประธานาธิบดี อิลฮัม อาลีเยฟ (Ilham Aliyev) แห่งอาเซอร์ไบจาน กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานด้วยภาษาอังกฤษที่ลื่นไหลไม่ติดขัด เป็น speech ที่ยาว แต่ไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอึดอัด เพราะเนื้อหาน่าสนใจ อธิบายภาพรวมแทบทุกด้านของอาเซอร์ไบจานด้วยน้ำเสียงและบุคลิกที่เป็นธรรมชาติและมาดมั่นของผู้นำที่กุมอำนาจบริหารประเทศมานาน 13 ปี ใครที่ไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับบากู ก็ได้รู้จักอาเซอร์ไบจานได้เป็นอย่างดีภายในเวลา 45 นาทีที่ได้ฟังประธานาธิบดีอิลฮัมกล่าวสุนทรพจน์ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า 25 ปีที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต อาเซอร์ไบจานเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างไรบ้าง แตกต่างจาก 70 ปีก่อนหน้านั้นในด้านใด

ผู้นำวัย 55 ปี กล่าวบนเวทีด้วยความภาคภูมิใจใน 25 ปีที่อาเซอร์ไบจานประสบความสำเร็จในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย สามารถหาที่ยืนของตนเองได้ในแผนที่โลก จนกลายเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และมีอีกอีกหลายบทบาทสำคัญบนเวทีโลก

1311

ในด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่เคยพึ่งพานานาชาติ แต่อาเซอร์ไบจานในปัจจุบันเป็นประเทศที่สามารถยืนหยัดด้วยตนเอง เพราะมีสภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลากหลายขยายตัว ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจสูงในระดับต้นๆ เป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาด้านพลังงานเนื่องจากอาเซอร์ไบจานมีน้ำมันและสมบูรณ์ด้วยแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ

ด้านสังคม นายอิลฮัม อาลีเยฟ กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาด้านการศึกษา อาเซอร์ไบจานให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทางด้านสวัสดิการและสังคมแก่ประชากรที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ (multi-ethnic) ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างทัดเทียมและเป็นธรรม

1918

ทางด้านสื่อ อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า อาเซอร์ไบจานถือดียังไงมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำนักข่าวระดับโลก แถมสำนักข่าวแห่งชาติอาเซอร์ไบจานคือ AZERTAC ยังได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธาน OANA เป็นระยะเวลา 4 ปี คือ ค.ศ. 2016 – 2019 ต่อจากสำนักข่าว Tass ของรัสเซียอีกด้วย

ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน คุยว่า 25 ปีที่ครองตนเป็นประเทศอิสระในสถานภาพ “สาธารณรัฐประชาธิปไตย” (The Democratic Republic) อาเซอร์ไบจานให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อที่เป็นอิสระ (independent media) ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อเช่นเดียวกันกับเสรีภาพพื้นฐานอื่นๆ (other fundamental freedoms) ของสังคม ยืนยันได้จากปัจจุบันที่อาเซอร์ไบจานมีหนังสือพิมพ์รายวันเกือบ 40 ฉบับ รายสัปดาห์และรายเดือนมากกว่า 200 สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 1 ช่อง สถานีภูมิภาค 13 ช่อง และเคเบิลทีวี 70 ช่อง อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชน โดยกว่าร้อยละ 75 ของประชากรที่อยู่ประมาณเกือบ 10 ล้านคน เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในจำนวนนั้น มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนที่ใช้ social media ด้วยองค์ประกอบข้างต้น ฟังดูก็พอเป็นเหตุเป็นผลจนทำให้ได้รับความไว้วางใจจัดงานใหญ่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมองค์กรสื่อระดับโลก

16

การรวมตัวกันของผู้นำสำนักข่าวจากทั่วโลกในการประชุม the 15th News Agencies World Congress ครั้งนี้ มีการพูดถึงอนาคตของการบริโภคข่าวสาร ความท้าทายและโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ และ Social media นวัตกรรมสำนักข่าว การฝึกอบรมบุคลากรข่าวเพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคตแห่งการเป็น Multi- media การปกป้องการทำหน้าที่ของคนทำข่าวทั้งในเรื่องของเสรีภาพ การเข้าถึงข้อมูล และความปลอดภัยในการรายงานข่าวในพื้นที่เสี่ยงอันตราย

อนาคตสำนักข่าวจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรเพื่อให้สำนักข่าวอยู่รอดได้ ยังเป็นประเด็นคำถามที่พยายามหาคำตอบร่วมกัน เท่าที่นั่งฟัง speakers บนเวทีที่มีมาจากหลายสำนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อ พอสรุปได้ว่า เพื่อความอยู่รอดได้ในอนาคต สำนักข่าวต่างๆ จะต้อง “diversify” หรือทำอะไรให้มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ย่ำอยู่กับที่ และจะต้อง “innovate” หรือ “create” อะไรใหม่ๆ เพื่อขาย ‘นวัตกรรม’ สำนักข่าวก็เหมือนสื่อแขนงอื่นๆ ที่ต้องชัดว่าตลาดอยู่ตรงไหน ต้องทำให้ได้ดังสำนวน “One needs to fish where the fish are” – จะตกปลาก็ต้องหาแหล่งที่มีปลาอยู่! ยิ่งถ้าอยากได้กลุ่มผู้บริโภคข่าวที่เอาใจยากอย่าง Generation ใหม่ สายพันธุ์ Millennial ยิ่งต้องปรับขยับกลยุทธ์ใหม่

ความเห็นหลากหลายบนเวที จับความได้ว่า เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นนักข่าวและเผยแพร่ข่าวเองได้ เพราะฉะนั้น สำนักข่าวต้องไล่ตามให้ทัน “trend” ที่มีแนวโน้มชัดเจนเป็นกันทั่วโลกว่าผู้บริโภคหันหลังให้กับข่าวที่เป็น Text ที่มีไว้อ่าน หันมานิยมข่าวสารที่เป็นภาพ (visual imagery) อีกทั้งยังเลือกความสะดวกที่จะรับข่าวเข้าทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีกันแทบทุกคน เพื่อให้ได้ผล เนื้อหาข่าวก็ต้องปรับให้รับกับเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร และปัจจุบันข่าวที่ผู้บริโภคนิยมเสพกันมักจะต้อง “short and sweet” หรือ “สั้น ไว ได้ใจความ” โดยภาพรวมก็คือ การนำเสนอข่าวหรือการเล่าเรื่องของสื่อ (Storytelling) จะต้องปรับทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงและตรึงผู้บริโภคข่าวได้ และควรต้องใช้หลักการสื่อสารสองทาง (two –way communication) เพื่อเพิ่มฐานผู้บริโภค

1221

ในด้านนวัตกรรมใหม่ ในกรณีของข่าวภาพ ข่าวที่เป็นคลิป หรือข่าวโทรทัศน์ มีการนำเสนอการใช้เทคนิคใหม่ๆ ด้านภาพข่าวมาใช้ในการนำเสนอ ซึ่งมีปัจจุบันทำกันได้ง่าย ไม่ต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อนก็ทำได้ ผู้แทนจากบางสำนักข่าวนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จในการแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียล้ำๆ ไม่ว่าจะกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ทั้งในระดับบุคคล หรือสถาบันศึกษา หรือไม่ก็กลุ่ม startups ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจมาร่วมคิดผลิตงานใหม่ๆ ให้กับงานข่าวเพื่อเจาะให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในประเด็นนวัตกรรมใหม่ของข่าว คือกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งผู้แทนจากสำนักข่าว Kyodo News หยิบบกตัวอย่างการนำเอา AI (Artificial Intelligence) news presenter หรือผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์มาอ่านข่าวแทนคนเป็นๆ ซึ่งเริ่มมีให้เห็นแล้วที่ญี่ปุ่น
ในด้านการดำเนินกิจการของสำนักข่าว มีข้อเสนอร่วมกันว่า สำนักข่าวในปัจจุบันและในวันข้างหน้าจำเป็นต้องหารายได้จากหลายแหล่ง จึงจำเป็นพัฒนาสร้างสรรผลิตภันฑ์ข่าวให้ได้หลากหลาย formats

นอกจากเรื่องการความอยู่รอดด้านธุรกิจ (กรณีสำนักข่าวเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้พึ่งงบประมาณจากรัฐบาล) แล้ว เวทีการประชุมใหญ่สำนักข่าวโลกครั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการฝึกอบรมบุคลากรข่าวเพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคตแห่งการเป็น Multi- media เรื่องอื่นๆ ต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานหลักการของวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ การปกป้องการทำหน้าที่ของคนทำข่าวทั้งในเรื่องของเสรีภาพ บนพื้นฐานการรายงานข่าวที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ การเข้าถึงแหล่งข่าวหรือข้อมูล และความปลอดภัยในการรายงานข่าวในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและสู้รบ (war zone) ซึ่งตัวเลขโดยรวมทั่วโลกในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนทำข่าวเสียชีวิตในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างน้อย 827 คน

ที่ประชุม 5th News Agencies World Congress ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า สิ่งที่ท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับสำนักข่าวทั่วโลกในปัจจุบัน คือ จะทำอย่างไรให้สำนักข่าวไปได้รอดในด้านการเงิน โดยเฉพาะสำนักข่าวที่ไม่ได้มีสถานภาพเป็นสำนักข่าวแห่งชาติที่มีงบประมาณจากรัฐบาลโอบอุ้ม จะทำอย่างไรเพื่อปกป้องและรักษามาตรฐานการรายงานข่าวที่เป็นอิสระ ไม่มีอคติ บนพื้นฐานหลักการเสรีภาพแห่งการพูดหรือแสดงออก (Freedom of speech) ที่สื่อต้องปรับตัวอย่างสูงในยุคดิจิทัล (Digital Era)

20

ขณะเดียวกัน ในช่วงท้าย มีการอ่านสารของนาย บีน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติที่ส่งมาให้ที่ประชุม แสดงความยินดี มีใจความตอนหนึ่งที่ย้ำความสำคัญของเสรีภาพของการแสดงออก เสรีภาพสื่อที่มีต่อโรดแมปโลก และชี้ว่าสำนักข่าวมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและทันต่อเวลาและสามารถผลักดันให้การเกิดการเปลี่ยนในทางบวก

การประชุม 5th News Agencies World Congress ซึ่งมีผู้บริหารและผู้แทนสำนักข่าวเข้าร่วมประชุมจำนวนมากจากกว่า 80 ประเทศ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของอาเซอร์ไบจาน ประเทศที่ให้ความสำคัญกับความพยายามในการผลักดันตัวเองให้มีที่ยืนบนเวทีโลกในหลายๆ ด้าน.

“นรพล ผาเจริญ” กอง บก.ข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย อสมท

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คนขับแท็กซี่ตายคารถ กว่าจะรู้ผ่านไปหลายชม.

รถแท็กซี่จอดอยู่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่เที่ยงจนถึงเย็น มีผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วก็ลงมา แถมถูกบีบแตรไล่ จนพ่อค้าขายข้าวโพดต้มเข้าไปเรียกพบคนขับนอนคอพับเสียชีวิต

ถอนตัวWHO

“ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอนามัยโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าววานนี้ว่า สหรัฐจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับโรคโควิด-19

พิตบูลขย้ำหัวพระ

“อเมริกันบูลลี่” ขย้ำหัวพระ-กัดข้อมือหาย มรณภาพคากุฏิ

สลด! หลวงพี่ เลขาเจ้าอาวาสวัด เลี้ยงอเมริกันบูลลี่ไว้ตั้งแต่เป็นลูกสุนัข ผ่านไปปีกว่า ถูกขย้ำหัวมรณภาพคากุฏิ ข้อมือขาดหายไป ยังหาไม่พบ

ข่าวแนะนำ

นายกฯ สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF อวดผ้าไทยสู่สายตาโลก

นายกฯ สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ จากภาคใต้ ร่วมประชุม WEF อวดผ้าไทยสู่สายตาโลก หารือผู้นำและภาคเอกชนชั้นนำของโลก

กทม.จำกัดพื้นที่ชั้นใน ห้ามรถบรรทุกวิ่ง เริ่มคืนนี้!

ผู้ว่าฯ กทม. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น กทม. คาดสุดสัปดาห์ระบายอากาศดีขึ้น พร้อมจำกัดพื้นที่ชั้นใน ห้ามวิ่งรถบรรทุก เริ่มคืนนี้! ย้ำประชาชนช่วยสอดส่องการลอบเผา ต้นเหตุฝุ่น PM 2.5

จำคุกทนายเดชา

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” ปมไลฟ์หมิ่น “อ.อ๊อด”

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” คดีหมิ่น “อ.อ๊อด” ปรับ 1 แสนบาท ปมไลฟ์ด่าเสียหาย ให้รอลงอาญา โจทก์เตรียมอุทธรณ์ต่อ ขอให้ติดคุกจริง

ตรวจสอบสิทธิ์เงินหมื่น

ตรวจสอบสิทธิ์เงินหมื่นคนอายุ 60+ ผ่านแอป “ทางรัฐ” ได้แล้ว

“จิรายุ” ย้ำเงินหมื่นเฟส 2 มอบคนอายุ 60+ รัฐบาลพร้อมโอนไม่มีเปลี่ยนแปลงแล้ว วันจันทร์ที่ 27 ม.ค.นี้ แน่นอน สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอป “ทางรัฐ” ได้แล้ววันนี้ ส่วนคนไม่มีสมาร์ทโฟน ฝากลูกหลานช่วยด้วย