ฮ่องกง 9 ม.ค.- หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ในฮ่องกงเจาะลึกความสัมพันธ์จีนและอิหร่านว่า ตั้งอยู่บนเรื่องการค้า อาวุธ และน้ำมัน ความแน่นแฟ้นนี้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากสหรัฐสังหารนายทหารทรงอิทธิพลของอิหร่านเมื่อไม่กี่วันก่อน
ผู้แทนพิเศษด้านตะวันออกกลางของจีนไปหารือเรื่องความมั่นคงที่อิหร่านเมื่อวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา เขากล่าวว่า ต่างชาติกำลังหาทางยั่วยุแต่ไม่ได้ระบุชื่อสหรัฐโดยตรง จีนและอิหร่านพึ่งพากันมาหลายนานปีเรื่องการค้าและพลังงาน กระทรวงพาณิชย์จีนเผยตัวเลขเมื่อเดือนเมษายนปีก่อนว่า การค้าทวิภาคีปี 2561 แตะ 35,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.06 ล้านล้านบาท) โดยที่จีนเป็นฝ่ายซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน 29.3 ล้านตัน มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 454,308 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ต่อปี
จีนและอิหร่านยังเป็นหุ้นส่วนทางทหารอย่างเหนียวแน่น สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มเผยว่า จีนติดหนึ่งในสามผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ให้อิหร่าน โดยส่งออกรวม 269 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,147 ล้านบาท) ในช่วงปี 2551-2561 มีทั้งอาวุธขนาดเล็ก ขีปนาวุธนำวิถี และขีปนาวุธต่อต้านเรือ ส่วนใหญ่ผ่านประเทศที่สามเช่นเกาหลีเหนือ ทั้งที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรอาวุธในปี 2550 และสหประชาชาติประกาศห้ามส่งออกอาวุธทั่วไปให้แก่อิหร่านในอีกสามปีต่อมา จีนและอิหร่านลงนามข้อตกลงในปี 2559 กระชับความร่วมมือด้านการทหารและต่อต้านก่อการร้าย หลังจากที่เคยซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งแรกในอ่าวเปอร์เซียในปี 2557 ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจีน อิหร่านและรัสเซียซ้อมรบร่วมทางทะเลเป็นเวลา 4 วันในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวโอมาน ครอบคลุมน่านน้ำกว้างถึง 17,000 กิโลเมตร
นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ กิจการรัฐบาลและนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟในอิสราเอลมองว่า จีนได้วางบทบาทตัวเองเป็นผู้รักษาเสถียรภาพในภูมิภาค การซ้อมรบร่วมไตรภาคีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ยังไม่ใช่การรวมตัวเป็นพันธมิตรด้านกลาโหม แต่การที่สามประเทศนี้หันมาร่วมมือกันมากขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะล้วนแต่เป็นประเทศเป้าหมายคว่ำบาตรของสหรัฐและคัดค้านลัทธิการดำเนินนโยบายแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่จีนใช้เตือนสหรัฐทางอ้อมด้วยว่า อย่าคิดใช้ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่กับอิหร่าน.- สำนักข่าวไทย