โตเกียว 18 พ.ย.- ผลสำรวจของหน่วยงานสังกัดธนาคารกลางญี่ปุ่นพบว่า ครัวเรือนในญี่ปุ่นเกือบร้อยละ 20 ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์จับจ่ายสินค้าเล็ก ๆ มากขึ้น สะท้อนว่าสังคมนิยมเงินสดอย่างญี่ปุ่นกำลังมีการปรับเปลี่ยน
ผลสำรวจระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่เผยแพร่วันนี้ระบุว่า ครัวเรือนญี่ปุ่นที่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เงินในแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน บัตรเดบิต จับจ่ายของราคาไม่ถึง 1,000 เยน (ไม่ถึง 278บาท) มีประมาณร้อยละ 18.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.4 ในการสำรวจช่วงเดียวกันปีก่อน และหากเป็นครัวเรือนที่มีคนเดียว ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งอายุ 20 ปีเศษถึง 30 ปีเศษ ตัวเลขดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ 35.6 สะท้อนว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมไร้เงินสดเริ่มได้ผล อย่างน้อยก็ในกลุ่มคนหนุ่มสาว อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 84 ยังคงใช้ธนบัตรและเหรียญซื้อของเล็ก ๆ หากเป็นของราคา 10,000-50,000 เยน (ราว 2,776-13,883 บาท) ครัวเรือนร้อยละ 48.5 เผยว่าจ่ายด้วยเงินสด มีเพียงร้อยละ 3.4 ที่จ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์
รอยเตอร์ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมใช้เงินสดจับจ่ายสินค้า และพึ่งพาเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติหรือเอทีเอ็ม (ATM) เป็นหลัก เนื่องจากมีการก่ออาชญากรรมต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาหลายปี และตู้เอทีเอ็มกระจายทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะพยายามผลักดันให้ชาวญี่ปุ่นใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานขายและช่วยธนาคารลดค่าใช้จ่ายเอทีเอ็ม โดยจูงใจคนให้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นเพราะจะได้ส่วนลด หลังจากรัฐบาลขึ้นภาษีขายจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม.- สำนักข่าวไทย