กัวลาลัมเปอร์ 26 ก.ย.- ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียเผยว่า จะกำหนดให้สถาบันการเงินต้องจัดทำรายงานเรื่องความเสี่ยงภัยต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดทำมาตรฐานระเบียบการกำกับดูแลต่อไป
นางนอร์ ซัมเซียห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียกล่าวในการประชุมภูมิภาคเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ปัญหาหมอกควันไฟป่าในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ย้ำเตือนว่าประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เป็นเหตุให้ธนาคารกลางมาเลเซียและธนาคารกลางทั่วโลกต้องให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
นางนอร์ ซัมเซียห์ระบุว่า การกำหนดให้สถาบันการเงินทำรายงานเรื่องความเสี่ยงภัยต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศจะเริ่มบังคับใช้ทันทีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียสรุปเรื่องการจำแนกประเภททรัพย์สินสีเขียวกับธนาคารโลกแล้วเสร็จ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เพื่อให้สถาบันการเงินแสดงความคิดเห็น ธนาคารกลางมาเลเซียจะนำข้อมูลที่ได้จากรายงานของสถาบันการเงินไปใช้แก้ไขมาตรฐานการกำกับดูแลให้สะท้อนความเสี่ยงภัยจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินในการตัดสินใจและวิเคราะห์เรื่องการระดมทุน การปล่อยสินเชื่อ และการลงทุน
ด้านซีไอเอ็มบี ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากเป็นอันดับสองของมาเลเซียเผยว่า ได้ร่วมกับธนาคาร 130 แห่งทั่วโลก มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,438 ล้านล้านบาท) รับปากจะดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติหรือยูเอ็นและข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากยังเป็นหนึ่งในธนาคาร 30 แห่งและธนาคารเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่างหลักการการธนาคารอย่างมีความรับผิดชอบตามความริเริ่มด้านการเงินของโครงการสิ่งแวดล้อมยูเอ็น รายงานของยูเอ็นเมื่อปีก่อนระบุว่า เอเชียแปซิฟิกเสี่ยงสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะภัยพิบัติปีละไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.89 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 โดยเมื่อปี 2557-2560 ภูมิภาคนี้เกิดแผ่นดินไหว 55 ครั้ง พายุและไซโคลน 217 ลูก น้ำท่วมหนัก 236 ครั้ง.- สำนักข่าวไทย