วากาดูกู 18 ก.ย.- คณะนักวิทยาศาสตร์ในบูร์กินาฟาโซ ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ทดลองปล่อยยุงตัวผู้ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นหมัน ออกสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรก หวังลดปริมาณยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย
การลงทุนเรื่องยาต้านมาลาเรีย มุ้งกันยุง และยาฆ่าแมลงช่วยชะลอมาลาเรียระบาดในแอฟริกาได้ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทวีปนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 400,000 คนเมื่อปี 2560 องค์การอนามัยโลกระบุว่า ความคืบหน้าในการปราบปรามโรคมาลาเรียหยุดชะงัก คณะนักวิจัยในบูร์กินาฟาโซที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์เผยว่า เครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถึงขีดจำกัดแล้ว พวกเขาจึงได้ทดลองฉีดเอนไซม์เข้าไปในตัวอ่อนยุงทำให้เป็นหมัน แล้วนำยุงตัวผู้ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนี้ประมาณ 5,000 ตัวไปปล่อยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันตกของประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม จุดประสงค์ไม่ใช่การกำจัดยุง แต่ต้องการลดปริมาณยุง เพราะเอนไซม์นี้จะมีผลกับยุง 3 ชนิดเท่านั้น ขณะที่ทั้งโลกมียุงมากกว่า 3,500 ชนิด ทางกลุ่มยังกำลังวิจัยเอนไซม์ที่จะสกัดไม่ให้ยุงตัวผู้ถ่ายทอดโครโมโซมเอ็กซ์ที่เป็นโครโมโซมเพศหญิงเพื่อให้ลูกยุงเกิดใหม่มีแต่ตัวผู้ เพราะยุงที่กัดคนและแพร่เชื้อมาลาเรียมีแต่ยุงตัวเมียเท่านั้น หวังว่าวิธีการนี้จะได้รับอนุญาตจากทางการในอีกไม่กี่ปีเพื่อนำไปใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวในบูร์กินาฟาโซแสดงความกังวลว่า อาจเกิดผลไม่คาดคิดต่อสภาพแวดล้อม โดยยกตัวอย่างการทดลองตัดแต่งพันธุกรรมต้นฝ้ายเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่เกษตรกรพากันร้องเรียนว่าได้ฝ้ายที่มีคุณภาพลดลง จนต้องยกเลิกแล้วหันไปใช้พันธุ์ที่มีอยู่ตามเดิม.-สำนักข่าวไทย