โรม 16 ก.ย.- กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์เตือนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า ต้องสร้างความหลากหลายเรื่องการผลิตและบริโภคอาหาร ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงเกิดการสะดุดเรื่องปริมาณอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่สงบในสังคม
พันธมิตรอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) เผยผลการศึกษาทั่วโลกครั้งใหม่ว่า ประโยชน์ทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและบริโภคอาหารจะมากกว่าเงินที่ใช้ลงทุนด้านนี้ ขอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพิ่มการสนับสนุนเรื่องการเกษตรอย่างยั่งยืน เพราะปริมาณอาหารที่สะดุดเพียงเล็กน้อยอาจสร้างความเสียหายมากมายและทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเหตุไม่สงบในสังคม นำมาซึ่งความอดอยากหิวโหยและภาวะไร้เสถียรภาพ อาหารหลักร้อยละ 60 ของคนทั่วโลกมาจากธัญพืชเพียง 4 ชนิดเท่านั้นคือ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพดและมันฝรั่ง การพึ่งพาอาหารหลักเพียงไม่กี่ประเภทมากเกินไป ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงหากการเพาะปลูกมีปัญหา อีกทั้งยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
ผลการศึกษาประเมินว่า หากอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่เกิดปัญหาจะสร้างความเสียหายต่อสุขภาพคน การพัฒนา และสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 365 ล้านล้านบาท) ต่อปี เท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของจีน จึงเสนอทางออกหลายอย่างตั้งแต่ส่งเสริมความหลากหลายด้านอาหารไปจนถึงเพิ่มการสนับสนุนการเกษตรที่ช่วยปกป้องป่าไม้ พร้อมกับยกตัวอย่างคอสตาริกา ประเทศในอเมริกากลางว่า รัฐบาลยุติการให้เงินอุดหนุนผู้เลี้ยงปศุสัตว์แล้วเปลี่ยนไปให้เงินเกษตรกรที่ดูแลที่ดินอย่างยั่งยืน ผลปรากฏว่าพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่าครึ่งประเทศ จากที่มีเพียงหนึ่งในสี่เมื่อปี 2526 ผลการศึกษาชี้ว่า การปฏิรูปอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.66 ล้านล้านบาท) ต่อปี แต่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 137.14 ล้านล้านบาท) หรือเกือบ 15 เท่า นอกจากนี้ยังจะทำให้โลกมีพื้นที่การเกษตรเพื่อการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอีก 7,500 ล้านไร่ หรือกว่าสองเท่าของขนาดพื้นที่ป่าแอมะซอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก.-สำนักข่าวไทย